เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เชิญ นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน, พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และนายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เข้าร่วมประชุมหารือร่วมกันเพื่อพิจารณาเตรียมความพร้อมในการจัดทำมาตรฐานจริยธรรมตามมาตรา 219 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ โดยที่ประชุมมีมติ ดังนี้ 1.ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับมาตรฐานทางจริยธรรมตามร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 219 และ 2.ตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วย เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เลขาธิการ กกต.หรือผู้แทน เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินหรือผู้แทน เลขาธิการ ป.ป.ช.หรือผู้แทน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินหรือผู้แทน และเลขาธิการ กสม.หรือผู้แทน เป็นคณะทำงานพิจารณาและรวบรวม พร้อมทั้งทำความเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอมาตรฐานทางจริยธรรม เพื่อนำเสนอที่ประชุมหารือร่วมกันระหว่างประธานศาลรัฐธรรมนูญกับประธานองค์กรอิสระต่อไป นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมวาระเพื่อวางแผนและแนวทางเพื่อทำมาตรฐานจริยธรรมในครั้งนี้ แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญแจ้งว่า ที่ประชุมได้เตรียมประมวลจริยธรรมและมาตรฐานจริยธรรมของหน่วยงานราชการและองค์กรที่เกี่ยวข้องเป็นเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำแนวทาง อย่างไรก็ตาม มาตรา 276 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ ได้กำหนดให้คณะผู้จัดทำซึ่งประกอบด้วยศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต้องทำให้เสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้บังคับ และกำหนดให้รับฟังความเห็นของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ ส.ส. , ส.ว., ครม. ด้วย ดังนั้นในแนวทางการเขียนมาตรฐานจริยธรรมจึงต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญเป็นหลักสำคัญ ส่วนจะเปิดโอกาสให้อดีต ส.ส., อดีต ส.ว., อดีตคณะรัฐมนตรี หรือนักการเมืองของพรรคต่างๆ ได้แสดงความเห็นหรือไม่นั้น ยังไม่มีความชัดเจนในประเด็นดังกล่าว อย่างไรก็ดีการทำมาตรฐานจริยธรรมตามบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามตินั้น เป็นเพียงการวางหลักการของมาตรฐานจริยธรรม หรือเรียกว่ามาตรฐานจริยธรรมกลางเท่านั้น ไม่ใช่การกำหนดรายละเอียดว่าสิ่งใดทำได้ หรือสิ่งใดทำไม่ได้ ดังนั้นในรายละเอียดหรือข้อปฏิบัติที่ใช้ควบคุมจริยธรรมบุคคลในองค์กร เป็นหน้าที่ที่หน่วยงานต่างๆ ต้องยกร่างประมวลจริยธรรมหรือข้อบังคับอื่นๆ ภายหลัง