NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ ภารกิจ #Inspiration4 เที่ยวบินอวกาศภาคเอกชนโดยนักบินอวกาศพลเรือน กลับมาถึงพื้นโลกแล้ว หลังจากการปฏิบัติภารกิจในอวกาศนาน 3 วัน เหล่านักบินอวกาศพลเรือนกลุ่มแรกของบริษัท SpaceX ได้กลับมาถึงโลกแล้ว โดยยานบรรทุกนักบินได้หย่อนตัวลงสู่พื้นทะเลนอกชายฝั่งรัฐฟลอริดาอย่างปลอดภัย ยาน Crew Dragon “รีซีเลียนส์” (Resilience) ของบริษัท SpaceX บริษัทเอกชนด้านเทคโนโลยีอวกาศของสหรัฐฯ ได้ลงสู่พื้นมหาสมุทรแอตแลนติก นอกชายฝั่งแหลมคะแนเวอรัล รัฐฟลอริดา สหรัฐฯ เมื่อเวลา 06:06 น. วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2564 (ตามเวลาประเทศไทย) ถือเป็นการสิ้นสุดภารกิจ Inspiration4 เที่ยวบินอวกาศภาคเอกชนที่พานักบินอวกาศพลเรือน 4 คนขึ้นสู่วงโคจรรอบโลก เที่ยวบินอวกาศครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามระดมทุนครั้งใหญ่จนได้งบประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการวิจัยโรคมะเร็งในเด็กของโรงพยาบาลวิจัยเด็กเซนต์จูด (St. Jude Children's Research Hospital) ในรัฐเทนเนสซี สหรัฐฯ ที่นำโดยแจเรด ไอแซกแมน (Jared Isaacman) เศรษฐีนักธุรกิจชาวสหรัฐฯ และนักบินอวกาศคนหนึ่งในภารกิจ Inspiration4 ซึ่งเขาเป็นผู้ว่าจ้างบริษัท SpaceX ในการควบคุมดูแลเที่ยวบินอวกาศครั้งประวัติศาสตร์ครั้งนี้ กลุ่มนักบินอวกาศพลเรือนในภารกิจ Inspiration4 นอกจากไอแซกแมนแล้ว ยังประกอบด้วย เฮลี อาร์เซอโน (Hayley Arceneaux) อดีตผู้ป่วยที่ผ่านการรักษาโรคมะเร็งในวัยเด็กและปัจจุบันเป็นผู้ช่วยแพทย์ในโรงพยาบาลวิจัยเด็กเซนต์จูด คริสโตเฟอร์ เซมโบรสกี (Christopher Sembroski) วิศวกรข้อมูล และชาน พร็อกเตอร์ (Sian Proctor) ศาสตราจารย์ด้านธรณีวิทยาและนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ เที่ยวบินครั้งนี้มีความสำคัญตรงที่เป็นเที่ยวบินอวกาศรูปแบบใหม่ครั้งแรกที่ไม่มีนักบินอวกาศอาชีพที่สังกัดองค์การอวกาศ มีเพียงนักบินอวกาศพลเรือนที่เป็นบุคคลทั่วไปเท่านั้น ขณะที่กลุ่มนักบินอวกาศกำลังปฏิบัติภารกิจในอวกาศนั้น นักบินอวกาศได้ทำการทดลองทางการแพทย์ เก็บตัวอย่างและข้อมูลที่จะช่วยนักวิจัยทำความเข้าใจถึงผลกระทบของสภาวะความโน้มถ่วงต่ำต่อร่างกายมนุษย์ เช่น สภาพการไหลเวียนของของไหล หรือจุลชีพในร่างกาย ข้อมูลทางการแพทย์ดังกล่าวยังมีความน่าสนใจเพิ่มเติมในเรื่องสภาพรังสีในอวกาศ ซึ่งยาน Crew Dragon พาทั้ง 4 คนขึ้นไปยังวงโคจรรอบโลกที่ไม่เคยมีนักบินอวกาศไปถึงมาก่อน ที่ระดับความสูงประมาณ 590 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวโลก สูงกว่าระดับวงโคจรรอบโลกของสถานีอวกาศนานาชาติและกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล นักบินอวกาศในภารกิจ Inspiration4 ยังถ่ายภาพทิวทัศน์ของโลกอันน่าตื่นตาตื่นใจ จากโดมกระจกโค้งที่ดัดแปลงเพิ่มเติมตรงปลายยอดของยาน Crew Dragon “รีซีเลียนส์” ซึ่งปกติแล้วจะเป็นส่วนเชื่อมต่อระหว่างยาน Crew Dragon กับสถานีอวกาศนานาชาติ ส่วน ชาน พร็อกเตอร์ หนึ่งในกลุ่มนักบินอวกาศยังได้วาดภาพด้วยปากกาหมึกผสมโลหะขณะที่เธอปฏิบัติภารกิจในอวกาศด้วย ซึ่งก่อนที่จะเริ่มภารกิจ พร็อกเตอร์ก็สนใจว่าการวาดภาพที่ต้องใช้ของเหลวอย่างปากกาที่มีหมึกหรือสีจะเป็นอย่างไรในสภาพความโน้มถ่วงต่ำ เนื่องจากของเหลวเหล่านี้จะประพฤติตัวในอวกาศแตกต่างจากบนโลก นอกจากเรื่องงานศิลปะในอวกาศของพร็อกเตอร์ ยังมีเรื่องดนตรีจากอวกาศ โดยเซมโบรสกีได้นำอูคูเลเล่ขึ้นสู่อวกาศไปด้วยเพื่อลองเล่นในสภาพความโน้มถ่วงต่ำ เขารู้สึกสนุกกับการทดลองในครั้งนี้มาก และเล่นดนตรีไปพลางระหว่างแพร่ภาพและเสียงจากภารกิจออกอากาศบนโลก หลังจากที่นักบินอวกาศเดินทางกลับมาถึงโลกและภารกิจ Inspiration4 จบลงแล้ว นักบินอวกาศกลุ่มนี้จะต้องผ่านการตรวจร่างกายจากเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ส่วนแคปซูลตัวยาน Crew Dragon จะส่งกลับไปยังบริษัท SpaceX เพื่อตรวจสภาพเพื่อนำยานกลับมาใช้ใหม่ในภารกิจครั้งต่อไป แม้ว่าจะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าภารกิจครั้งหน้าจะมีขึ้นเมื่อใด ทางบริษัท SpaceX มีแผนเที่ยวบินอวกาศที่มีนักบินอวกาศพลเรือนครั้งอื่นในช่วงต้นปีหน้า ซึ่งภารกิจดังกล่าวจะเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท SpaceX และบริษัท Axiom Space บริษัทผู้พัฒนาโครงสร้างทางเทคโนโลยีอวกาศในสหรัฐฯ พานักบินอวกาศพลเรือน 4 คน (ในจำนวนนี้มีอดีตนักบินอวกาศขององค์การนาซา 1 คน) ไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ เรียบเรียง : พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร. อ้างอิง : https://www.space.com/spacex-inspiration4-returns-to-earth"