NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ "เฮอร์บิก-ฮาโร" วินาทีกำเนิดดาวฤกษ์ นี่คืออีกหนึ่งปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่พบเห็นได้ยาก เรียกว่า เฮอร์บิก-ฮาโร (Herbig-Haro object หรือ HH) ซึ่งเฮอร์บิก-ฮาโรที่เห็นในภาพนี้มีชื่อว่า HH111 บันทึกด้วยอุปกรณ์ถ่ายภาพมุมกว้าง Wide Field Camera 3 (WFC3) ที่ติดตั้งอยู่บนกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลของนาซา เฮอร์บิก-ฮาโร เป็นลักษณะเฉพาะมักเกิดขึ้นในบริเวณที่มีการก่อตัวของดาวฤกษ์ดวงใหม่ ดาวฤกษ์เหล่านั้นจะหมุนรอบตัวเองด้วยความเร็วสูงจนในบางครั้งจะปลดปล่อยลำแก๊สพุ่งออกมาอย่างรวดเร็วและร้อนมากจนโมเลกุลและอะตอมเกิดการสูญเสียอิเล็กตรอน เกิดเป็นแก๊สไอออนที่มีประจุสูง และเมื่อลำแก๊สพลังงานสูงเหล่านี้ชนกับเมฆฝุ่นและแก๊สที่อยู่รอบๆ ด้วยความเร็วหลายร้อยกิโลเมตรต่อวินาที จึงทำให้เกิดวัตถุที่เรียกว่า เฮอร์บิก-ฮาโร เช่น HH111 ในภาพ เฮอร์บิก-ฮาโร เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวไม่กี่พันปีภายในเนบิวลาเท่านั้น จากนั้นจะสลายตัวหายไปในสสารระหว่างดวงดาวในที่สุด มนุษย์ได้ค้นพบ เฮอร์บิก-ฮาโร ครั้งแรกในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่นักวิทยาศาสตร์ช่วงนั้นยังไม่ทราบถึงกระบวนการเกิดจนกระทั่ง จอร์จ เฮอร์บิก (Gerorge Herbig) และกีเยร์โม ฮาโร (Guillermo Haro) สองนักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาการก่อตัวของดาวฤกษ์ จนพบว่า เฮอร์บิก-ฮาโร เกิดขึ้นจากขั้นตอนการก่อตัวของดาวฤกษ์ภายในเนบิวลา ดังนั้นจึงเรียกวัตถุแบบนี้ตามชื่อของนักวิทยาศาสตร์ทั้งสองนั่นเอง ด้วยเทคโนโลยีของอุปกรณ์ Wide Field Camera 3 (WFC3) ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลที่สามารถบันทึกภาพวัตถุอวกาศได้ในช่วงความยาวคลื่นแสงที่ตามองเห็น ช่วงคลื่นรังสีอัลตราไวโอเลต และช่วงคลื่นอินฟราเรด จึงช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เห็นถึงวิวัฒนาการอันซับซ้อนของวัตถุท้องฟ้าในห้วงอวกาศมากมาย รวมถึงเฮอร์บิก-ฮาโร ที่ปลดปล่อยแสงในช่วงความยาวคลื่นแสงที่ตามองเห็นจำนวนมาก แต่สังเกตเห็นได้ยากเนื่องจากฝุ่นและแก๊สรอบข้างได้ดูดกลืนแสงเข้าไป เมื่อบันทึกภาพในช่วงคลื่นอินฟราเรดจึงทำให้เราเห็นส่วนที่ถูกบดบังอยู่ภายใต้ฝุ่นและแก๊สของเนบิวลาได้ กล้อง WFC3 ตัวนี้จะเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการค้นหาเฮอร์บิก-ฮาโร แห่งอื่นๆ ต่อไปได้ในอนาคต และอาจช่วยให้นักวิทยาศาสตร์พบเบาะแสการก่อตัวของดาวฤกษ์ดวงใหม่ๆ ได้อีกด้วย เรียบเรียง : บุญญฤทธิ์ ชุนหกิจ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร. อ้างอิง : [1] https://www.nasa.gov/.../2021/hubble-snaps-speedy-star-jets [2] https://sparky.rice.edu//~hartigan/movies.html"