ส่งวธ.จัดทำ “บิ๊กดาต้า”ฐานข้อมูลภูมิปัญญาผ้าไทย รวบรวมลายผ้าไทย ส่งเสริมนักศึกษาประชาชนนำข้อมูลความรู้ไปใช้ต่อยอดพัฒนาผ้าไทย CPOT ให้ทันสมัย ยกระดับผ้าไทยสู่สากล นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) เปิดเผยว่า วธ.ได้เดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่นไทย(Fashion) หนึ่งในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมที่มีศักยภาพของไทย 5 F ล่าสุดมอบหมายสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด(สวจ.) 76 จังหวัดทั่วประเทศ ไปศึกษาสำรวจและรวบรวมลายผ้าไทยที่เป็นอัตลักษณ์สะท้อนถึงมรดกภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี และประวัติศาสตร์อันโดดเด่นของแต่ละจังหวัด ขณะนี้ได้ทยอยส่งข้อมูลลายผ้าไทยที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดมายังวธ. เช่น ผ้า“ลายผ้าศิลาล้อมเพชร” จ.กำแพงเพชร ออกแบบลวดลายจากงานประติมากรรมต่างๆ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร, ผ้าลายดอกบุนนาค จ.พิจิตร มีที่มาจากต้นบุนนาคต้นไม้ประจำจ.พิจิตร, ลายผ้าประจำจ.นครสวรรค์ มีลวดลายผ้าคลื่นสายน้ำ 4 สาย ประกอบด้วยลายมังกรนครสวรรค์ ลายดอกบัวบึงบอระเพ็ด ลายปลาเสือและลายดอกเสลา เป็นต้น ทั้งกล่าวด้วยว่า วธ.จะรวบรวมข้อมูลลายผ้าไทยที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด บรรจุไว้ในฐานข้อมูลภูมิปัญญาผ้าไทย ภายใต้โครงการพัฒนาศูนย์ข้อมูลใหญ่กระทรวงวัฒนธรรม (M-Culture Big Data) ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ หลังจากนั้นปี 2565 จะเดินหน้าส่งเสริมผ้าไทยให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ วธ.ตั้งเป้าหมายเป็นหน่วยงานที่มีฐานข้อมูลความรู้ขนาดใหญ่ที่สุดในเรื่องผ้าไทยของประเทศ มีข้อมูลวิชาการ งานวิจัย เอกสารที่ได้รับมาตรฐานรับรองและมีคลังความรู้จากนักออกแบบ เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาและประชาชนได้เข้ามาค้นคว้าหาความรู้พร้อมนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาต่อยอดด้านการผลิตและแปรรูปผ้าไทย เช่น เสื้อผ้า หมวก รองเท้า รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย(CPOT) ให้มีความทันสมัยและรูปแบบร่วมสมัยดึงดูดใจให้ประชาชน เยาวชนคนรุ่นใหม่อยากสวมใส่และใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของวธ. เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก สร้างอาชีพ สร้างรายได้สู่ชุมชน จังหวัดและประเทศอย่างยั่งยืน รวมทั้งยกระดับผ้าไทยให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายสู่สากล