สัปดาห์พยากรณ์ / อ.ราม วัชรประดิษฐ์ พระเทริดขนนก กรุวัดเสมาสามชั้น นับเป็นพระกรุเก่าที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมสะสมกันอย่างกว้างขวางพิมพ์หนึ่งของจังหวัดเพชรบุรี จังหวัดเก่าแก่ของประเทศไทย ซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองและมีความสำคัญเรื่อยมาตั้งแต่ในสมัยสุวรรณภูมิ ทวาราวดี ศรีวิชัย ลพบุรี จนถึงสมัยอยุธยา สาเหตุที่เรียกกันว่า “เทริดขนนก” นั้น เรียกขานตามลักษณะของพระเศียรซึ่งประดับมงกุฎ หรือที่เรียกกันว่า “เทริด” ส่วนคำว่า “ขนนก” มาจากลักษณะที่เป็นแฉกคล้ายขนนกเสียบเรียงกัน จึงรวมเป็น “เทริดขนนก” มีพุทธคุณปรากฏเป็นเลิศในด้านแคล้วคลาดและคงกระพันชาตรี พระเทริดขนนก กรุวัดเสมาสามชั้น มีการขุดค้นพบเมื่อประมาณปี พ.ศ.2513 ที่วัดเสมาสามชั้น ซึ่งปัจจุบันคือวิทยาลัยเทคโนโลยีเพชรบุรี และพบอยู่ประมาณ 200 กว่าองค์เท่านั้น ลักษณะเป็นพระเนื้อชินตะกั่วสนิมแดง มีพุทธศิลปะแบบสมัยลพบุรียุคต้น องค์พระมีขนาดกำลังดี คือมีความสูงประมาณ 3.5 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 2.3 เซนติเมตร พุทธลักษณะองค์พระ ด้านหน้า พระประธานประทับนั่ง ขัดสมาธิราบ แสดงปางมารวิชัย เหนืออาสนะบัวเล็บช้าง มีกลีบบัวใหญ่ 3 กลีบ และกลีบแซม 2 กลีบ พระเศียรทรงเทริด ลักษณะเป็นรูปมงกุฎแบบเตี้ย มีกรอบกระบังหน้าลักษณะคล้ายขนนกมี 3 กลีบ และจะมีกลีบเล็กๆ โค้งอยู่ด้านหน้าเป็นกระจังอีกอันหนึ่ง ซึ่งพระเทริดขนนก กรุวัดค้างคาวไม่มีกลีบเล็กๆ นี้ ฉลองพระศอแบบสร้อยสังวาล ต้นพระพาหาทั้งสองข้างประดับพาหุรัด ส่วนด้านหลัง มี พิมพ์หลังลายผ้าและพิมพ์หลังเป็นแอ่ง สามารถแบ่งแยกออกได้เป็น 2 พิมพ์ คือ - พิมพ์เทริดขนนก แบบมีซุ้ม นิยมเรียกกันว่า “พระยอดขุนพล” องค์พระประธานจะประทับนั่งภายในซุ้มเรือนแก้ว - พิมพ์เทริดขนนก แบบธรรมดา ลอยองค์ ไม่มีปีกข้าง เข้าใจว่าเป็นการตัดกรอบพิมพ์ชิดองค์พระ จึงตัดกรอบเส้นซุ้มออกไป ด้วย “พระเทริดขนนก” นี้ เป็นพระเนื้อชินตะกั่ว ส่วนใหญ่จึงปรากฏ “สนิมแดง” สีแบบเปลือกมังคุดแก่หรือสีลูกหว้าสุก น้อยองค์ที่จะเป็นสีแดงเลือดนกหรือแดงปนส้ม เมื่อนำสำลีหรือผ้านิ่มๆ มาเช็ดจะเกิดความมันวาวและใส พื้นผิวขององค์พระจะมีลักษณะแห้ง บางองค์ปรากฏ “รอยปริแตกราน” คล้ายเส้นใยแมงมุม การพิจารณาพระเทริดขนนก จึงใช้หลักการพิจารณาเช่นเดียวกับพระเนื้อชินตะกั่วที่บรรจุกรุโดยทั่วไปซึ่งมีคุณสมบัติคือ เมื่อผ่านกาลเวลาเนินนานก็จะปรากฏ “คราบไขความเก่าตามธรรมชาติ” ลักษณะเป็นไขสีขาวขุ่น ผุดออกจากเนื้อขององค์พระ บางครั้งอาจเป็นสีน้ำตาลอ่อนแซมอยู่กับสนิมแดงที่จับเกาะติดแน่นทั่วทั้งองค์พระ ซึ่งล้างออกยากมาก นอกจากนี้ จะมี “คราบหินปูน” เกาะติดอยู่กับองค์พระ บางองค์เกาะหนามากคล้ายขี้ตะกรัน โดยเฉพาะกรุที่มีความชื้นและน้ำท่วมถึง “คราบกรวด ดิน และทราย” ที่ฝังทับถม เป็นคราบสีน้ำตาล แต่เมื่อนำมาล้างออกจะปรากฏองค์พระที่งดงามยิ่ง ปรากฏคราบสนิมแดงชัดเจน ทำให้การพิจารณาธรรมชาติความเก่าขององค์พระง่ายยิ่งขึ้น ครับผม