ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง: เป็นการจัดแสดงนิทรรศการถาวรประวัติศาสตร์ในอาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่จะพาผู้ชมย้อนเวลาไปสัมผัสโบราณวัตถุก่อนพุทธศตวรรษที่ 18 ที่พบบนผืนแผ่นดินไทย นิทรรศการร่ายให้เห็นภาพตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ก่อนพุทธศักราช 1800 อันเป็นช่วงเวลาที่ดินแดนในประเทศไทยปัจจุบันปรากฏหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์ จนถึงยุคที่รับวัฒนธรรมจากภายนอกโดยเฉพาะอินเดีย ก่อเกิดการพัฒนาจากบ้านสู่รัฐ จัดแสดงแบ่งเป็นห้องๆ สังเขปดังนี้ ห้องศิลปะเอเชีย แสดงโบราณวัตถุที่เป็นงานศิลปกรรมในภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ศิลปะอินเดีย ศิลปะลังกา ศิลปะจีน ศิลปะญี่ปุ่น ศิลปะจาม และศิลปะพุกาม-พม่า ส่วนมากเป็นประติมากรรมในพุทธศาสนา ซึ่งพุทธศิลป์บางประเทศได้เป็นต้นแบบการสร้างพระพุทธรูปในศิลปะไทย อาทิ ศิลปะลังกา ที่ส่งอิทธิพลให้กับศิลปะสุโขทัย หรือศิลปะพม่า ที่ส่งอิทธิพลให้กับศิลปะล้านนา ห้องก่อนประวัติศาสตร์ ประเทศไทยพบหลักฐานเครื่องมือที่ทำจากหินกะเทาะของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์เมื่อราว 500,000 ปีมาแล้ว และมีพัฒนาการมาเป็นลำดับจนประมาณ 4,000 ปีมาแล้ว จึงพบการผลิตเครื่องมือหินขัด ภาชนะเครื่องปั้นดินเผา การทอผ้า เมื่อเข้าสู่สมัยโลหะมีการนำแร่โลหะ เช่น ทองแดง ดีบุก เหล็ก มาหลอมทำอาวุธ เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ห้องทวารวดี “ทวารวดี” คำจารึกบนเหรียญเงิน ซึ่งพบตามชุมชนโบราณหลายแห่งในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย สันนิษฐานว่าคืออาณาจักร “โตโลโปตี” ที่ปรากฏในเอกสารจีนสมัยราชวงศ์ถัง วัฒนธรรมทวารวดีแพร่กระจายไปตามชุมชนโบราณหลายแห่งของประเทศ นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 – 16 หรือราว 1,000 – 1,400 ปีมาแล้ว ส่วนใหญ่ได้รับแรงบันดาลใจจากพระพุทธศาสนา พบหลักฐานจำนวนมากในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก ส่วนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้มีรูปแบบที่คลี่คลายผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น โบราณวัตถุสำคัญ เช่น ธรรมจักร วัดเสน่หา(ร้าง) นครปฐม พระพุทธรูปปางแสดงธรรม คูบัว ราชบุรี ฯลฯ ห้องลพบุรี “ลพบุรี” มาจากชื่อเมืองหรือรัฐ “ลวปุระ” ใช้เรียกรูปแบบศิลปกรรมที่มีความใกล้ชิดกับรูปแบบศิลปกรรมวัฒนธรรมเขมรในราชอาณาจักรกัมพูชา สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยปัจจุบัน ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 หรือราว 1,400 ปีมาแล้ว ต่อมาช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 – 18 หรือราว 800 – 1,100 ปีมาแล้ว พบหลักฐานงานศิลปกรรมสร้างขึ้นเนื่องในความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ และศาสนาพุทธ ผ่านระบบการเมืองการปกครอง ศาสนสถานในศิลปะลพบุรีสร้างด้วยถาวรวัตถุ ประเภทอิฐหรือหิน จึงปรากฏหลักฐานชิ้นส่วนประดับสถาปัตยกรรมต่างๆ อาทิ ทับหลัง เสาประดับกรอบประตู สำหรับประติมากรรมรูปเคารพมีทั้งที่สลักจากศิลาและหล่อจากสำริด รูปแบบศิลปะลพบุรีมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับศิลปะเขมรสมัยเมืองพระนคร และต่อยอดเป็นพื้นฐานงานศิลปกรรมในสมัยอยุธยาตอนต้น นอกเหนือจากหลักฐานงานศิลปกรรมด้านศาสนาแล้วยังมีประเภทเครื่องปั้นดินเผา ที่รังสรรค์เป็นงานศิลปกรรมประดับอาคาร และเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ห้องศิลปะศรีวิชัย “ศรีวิชัย” เป็นชื่อรัฐในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 – 18 หรือประมาณ 800 – 1,300 ปีมาแล้ว ตั้งอยู่บริเวณคาบสมุทรแหลมมลายูภาคใต้ของประเทศไทยจนถึงเกาะสุมาตราประเทศอินโดนีเซีย ในประเทศไทยพบหลักฐานทางโบราณคดีวัฒนธรรมศรีวิชัย อาทิ โบราณสถาน จารึก รูปเคารพในศาสนาพราหมณ์ทั้งไศวนิกายและไวษณพนิกาย ศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน และประติมากรรมศิลปะชวาที่ได้รับมอบในคราวที่รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสชวา ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2439 และอีกส่วนหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 7 ทั้งนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เปิดให้เข้าชมทุกห้อง ยกเว้นเฉพาะห้องลพบุรีจะจัดนิทรรศการแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ตามวันและเวลาให้บริการทุกวันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 08.30 – 16.00 น. และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด