งดงามชวนฝัน มีหลากหลายความมหัศจรรย์ไม่หมดไม่สิ้นในห้วงจักรวาล ซึ่งเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก เผยภาพ โลมาที่แหวกว่ายอยู่ท่ามกลางห้วงอวกาศ อีกภาพมหัศจรรย์ของวัตถุท้องฟ้าที่เรียกว่าเนบิวลา เนบิวลาหัวโลมา (Dolphin-Head Nebula) หรือ SH2-308 (Sharpless 2-308) มีลักษณะเหมือนฟองอากาศขนาดใหญ่โตมโหฬารในอวกาศ ปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวสุนัขใหญ่ (Canis Major) ห่างจากโลกประมาณ 5,000 ปีแสง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 60 ปีแสง และครอบคลุมพื้นท้องฟ้าของเรามากกว่าพื้นที่ของดวงจันทร์เต็มดวงบนท้องฟ้าเล็กน้อย เนบิวลารูปร่างคล้ายฟองสบู่ขนาดยักษ์เช่นนี้เกิดขึ้นจากลมร้อนของดาวฤกษ์มวลมากประเภท Wolf-Rayet ซึ่งปรากฏสว่างให้เห็นอยู่ใกล้ใจกลางเนบิวลาหัวโลมาในภาพ ดาวฤกษ์ชนิดนี้จะมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 20 เท่า และคาดกันว่าอยู่ในช่วงก่อนการระเบิดเป็นซูเปอร์โนวาตามลำดับวิวัฒนาการของดาวฤกษ์มวลมาก ลมดาวฤกษ์ความเร็วสูงที่พุ่งออกมาจะผลักดันมวลสารรอบๆ ที่หลงเหลือจากสมัยก่อตัว จนปรากฏออกมาเป็นรูปร่างคล้ายฟองสบู่ อย่างไรก็ตาม เนบิวลานี้มีอายุกว่า 70,000 ปีแล้ว และมีการแผ่รังสีที่ค่อนข้างจางมาก จึงต้องถ่ายภาพโดยใช้แผ่นกรองเฉพาะความถี่คลื่นช่วงแคบ ก่อนจะเผยให้เห็นภาพห้วงอวกาศลึกที่ครอบคลุมด้วยแสงจากอะตอมออกซิเจนที่แตกตัวเป็นไอออน ปรากฏให้เห็นโครงสร้างส่วนใหญ่ของเนบิวลาที่เป็นสีฟ้าและมีรูปร่างคล้ายปลาโลมา เรียบเรียง : นายภาณุ อุบลน้อย - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร. อ้างอิง : https://apod.nasa.gov/apod/ap211021.html