กุ๊กกุ๊กกู๋ววว รับเทศกาลวันฮาโลวีน เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 31 ต.ค.64 ระบุ "Trick or Threat! พา #เนบิวลาศีรษะผี มาเคาะประตูบ้าน ร่วมฉลองเทศกาลฮาโลวีนด้วยกันครับ เทศกาลฮาโลวีน (Halloween) เป็นเทศกาลที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และมีความเกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์ด้วย นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล เทศกาลฮาโลวีนเป็นการเฉลิมฉลองวันข้ามไตรมาส (Cross-quarter day) เป็นวันกึ่งกลางระหว่างวันวิษุวัต (Equinox : วันราตรีเสมอภาค คือวันที่กลางวันและกลางคืนมีความยาวนานเท่ากัน) กับวันเหมายัน (Winter solstice : วันที่กลางวันสั้นที่สุด และกลางคืนยาวที่สุดในซีกโลกเหนือ) แต่ในปฏิทินสมัยใหม่นั้น วันฮาโลวีนจะมาถึงก่อนวันข้ามไตรมาสที่แท้จริงประมาณหนึ่งสัปดาห์ ส่วนวันข้ามไตรมาสอีกวันหนึ่งจะเรียกว่าวันกราวด์ฮอก (Groundhog Day) การเฉลิมฉลองเทศกาลฮาโลวีนสมัยใหม่ยังคงรักษารากเหง้าทางประวัติศาสตร์ในการแต่งกายให้น่าหวาดกลัวเพื่อหลอกและขับไล่วิญญาณของคนตาย ภาพของ “เนบิวลาศีรษะผี” (Ghost Head Nebula) หรือ NGC 2080 จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล จึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องบรรณาการจากห้วงเอกภพที่เหมาะสมสำหรับเทศกาลเก่าแก่นี้ เนื่องจากมันดูคล้ายภาพของภูตผีในจินตนาการของมนุษย์มากทีเดียว สำหรับเนบิวลาศีรษะผี หรือ NGC 2080 นั้น เป็นบริเวณที่มีการก่อตัวของดาวฤกษ์ในเมฆแมกเจลแลนใหญ่ มีความกว้างประมาณ 50 ปีแสง และใช้การแทนค่าสีให้เกิดเป็นภาพที่สวยงามนี้ #HappyHalloween #GhostHeadNebula เรียบเรียง : ภาณุ อุบลน้อย - หน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร. อ้างอิง : https://apod.nasa.gov/apod/ap211024.html"