สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม วัชรประดิษฐ์ ช่วงหลังๆ นี่มีข่าวคราวเรื่อง "พระขุนแผนแสนสนิท" ออกมาบ่อยๆวันนี้เลยขอนำเสนอพระขุนแผนกรุหนึ่งที่เรียกกันในวงการว่า "กรุหลังโรงเหล้า" หรือบางทีก็เรียก "กรุโรงเหล้า" ซึ่งชื่อกรุก็ดูแปลกๆ แล้ว เขามีแต่กรุวัดนั้น วัดนี้ นี่เป็นกรุโรงเหล้า นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาและพิมพ์ทรงเดียวกันกับ "พระขุนแผนเคลือบ กรุวัดใหญ่ชัยมงคล จ.พระนครศรีอยุธยา" และมีทั้งพิมพ์อกใหญ่และพิมพ์อกเล็ก เช่นเดียวกัน จะแตกต่างกันตรงที่เป็นพระที่ยังไม่ได้เคลือบด้วยน้ำยาเท่านั้น พระพิมพ์นี้ยังไปตรงกับ "พระขุนแผน กรุวัดบ้านกร่าง จ.สุพรรณบุรี" อีกด้วย แต่แตกต่างกันตรงเนื้อหาที่สร้างด้วยดินขาว ดินเหลือง และดินดำ เป็นหลัก เมื่อเผาแล้วองค์พระจะออกเป็นสีขาวแบบเนื้อกระเบื้อง ทำให้เนื้อพระมีความแกร่งมากกว่า นับเนื่องไปเมื่อปี พ.ศ.2485 โรงเรียนฝึกหัดครูสตรีประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเกาะเมือง ด้านหน้าติดถนนอู่ทอง ฝั่งตรงข้ามเป็นโรงงานสุราพระนครศรีอยุธยา ซึ่งหันหน้าไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา หันหลังให้โรงเรียนฝึกหัดครูสตรี (อันเป็นที่มาของการเรียกชื่อกรุ) ได้ขยายและก่อสร้างอาคารเรียนเพิ่ม โดยมีผู้ควบคุมการตกแต่งสถานที่ ชื่อ ท่านอาจารย์หลุย ชมชื่น มีคนงานทั้งชาวไทยพุทธและชาวไทยอิสลาม โดยส่วนใหญ่เกลี่ยดินได้วันละ 50 สตางค์ ในสมัยนั้นปรากฏว่า คนงานขุดแต่งโคกโบสถ์ร้างแห่งหนึ่งซึ่งเต็มไปด้วยซากอิฐซากปูน ชาวบ้านเรียกกันว่า "วัดสิงห์หลาย" หรือ "วัดสิงห์ทลาย" พระขุนแผน กรุหลังโรงเหล้า ลึกลงไปประมาณหนึ่งเมตร คนงานพบพระเนื้อผงสีขาวและสีขาวปนชมพู กระจัดกระจายเกลื่อนเป็นร้อยๆ องค์ และพบหุ่นสิงโตทองคำปะปนอยู่ด้วยตัวหนึ่ง เนื่องจากองค์พระมีพุทธลักษณะเหมือน "พระขุนแผน" ที่ขึ้นอยู่ก่อนหน้านี้ จึงเรียกพระที่พบว่า "พระขุนแผน กรุหลังโรงเหล้า" หรือ "พระขุนแผน กรุโรงเหล้า" เมื่อนำพระมารวมกันมีทั้งสมบูรณ์และชำรุดจำนวนเกือบพันองค์ ก็เช่าซื้อกันองค์ละไม่เกินสิบบาท ต่อมาได้มีการสร้างและขยายโรงงานต่างๆ เพิ่มเติมในแถบ ต.หัวแหลม บริเวณนี้ชาวบ้านเรียกว่า "วัดสามจีน" เพราะเดิมเป็นเขตวัดพระจีน แต่ต่อมาก็กลายเป็นวัดร้าง ซึ่งก็ยังติดต่อกับเขตโรงเรียนฝึกหัดครูฯ และทางเทศบาลเมืองพระนครศรีอยุธยาได้จัดสร้างเป็นโรงเก็บน้ำประปา ในขณะก่อสร้างใช้รถไถปรับพื้นดิน ปรากฏพระขุนแผนเนื้อผงพิมพ์เดียวกันกับวัดสิงห์ทลาย บางองค์ก็เป็นเนื้อกระเบื้องเคลือบคล้ายของวัดใหญ่ชัยมงคล พุทธลักษณะของ "พระขุนแผน กรุโรงหลังเหล้า (กรุโรงเหล้า)" และที่พบบริเวณวัดสามจีน จะคล้ายคลึงกับพระที่เรียกว่า "ขุนแผน" ซึ่งขึ้นอยู่ทั่วไปในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คือ องค์พระประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย ภายใต้ซุ้มเรือนแก้ว อันแสดงออกถึงศิลปะสมัยอยุธยา แต่ไม่เคลือบเช่นเดียวกับพระขุนแผนกรุวัดบ้านกร่าง และไม่พบพระเคลือบเหมือนกรุวัดใหญ่ชัยมงคล โดยสามารถแยกออกได้เป็น 2 พิมพ์ คือ "พิมพ์อกใหญ่" เนื้อขาวใบลาน และ "พิมพ์อกเล็ก" หรือ "พิมพ์แขนอ่อน" เนื้อขาวปนชมพู โดยพิมพ์อกใหญ่จะมีความแข็งแกร่งมากกว่าพิมพ์อกเล็ก พระที่เรียกว่า "พระขุนแผน" นั้น เป็นที่ยอมรับกันทุกผู้ทุกนามในเรื่องพุทธคุณเข้มขลังที่ครบเครื่องครบครัน โดยเฉพาะด้านเมตตามหานิยมสูงส่ง มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับประสบการณ์ของพระขุนแผน ที่เรียกว่าเป็นการประชันกรุกันทีเดียว เรื่องมีอยู่ว่า ... ขุนแผนเคลือบ กรุวัดใหญ่ชัยมงคล ...ครั้งหนึ่ง มีเซียนพระ 3 คน แย่งกันจีบผู้หญิงคนเดียวกัน และแต่ละคนต่างก็จะมีของดีประจำตัวอยู่ โดย คนที่ 1 ห้อยพระขุนแผนเคลือบ กรุวัดใหญ่ชัยมงคล คนที่ 2 ห้อยพระขุนแผน กรุโรงเหล้า และคนที่ 3 ห้อยพระขุนแผน กรุวัดบ้านกร่าง จ.สุพรรณ บุรี ผลปรากฏว่า คนที่ห้อยพระขุนแผน กรุโรงเหล้า สามารถชนะใจสาวเจ้าได้ ... ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว อาจจะเป็นด้วยสาเหตุอื่นใดก็ตามแต่ เรื่องราวนี้ก็กลับกลายเป็นตำนานเล่าขานของพระขุนแผน 3 กรุที่มาประชันพุทธคุณด้านเมตตามหานิยม ในแวดวงพระเครื่องเมืองกรุงเก่าสืบต่อมา ขุนแผนเคลือบ กรุวัดบ้านกร่าง สุพรรณบุรี ขึ้นชื่อว่า "พระขุนแผน" แล้ว ไม่ว่ากรุไหน พิมพ์ไหน ก็เป็นที่นิยมและเสาะแสวงหากันในวงการนักนิยมสะสมพระเครื่องอย่างกว้างขวาง เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว "พระขุนแผน กรุหลังโรงเหล้า (กรุโรงเหล้า)" ก็เช่นกัน แต่สนนราคาจะแตกต่างกันไป ดังนั้นผู้ที่สามารถแยกพิมพ์ออกว่าขึ้นจากกรุไหนก็จะได้เปรียบมากกว่าครับผม