สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ได้จัดพิธีมอบรางวัลประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2564 หัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์” เมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2564 อิมแพ็ค เมืองทองธานี รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ ประธานกรรมการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ประธานในพิธีมอบรางวัล กล่าวว่า ขอชื่นชมในความสามารถ ความตั้งใจ และความเพียรพยายามของทุกท่านที่ได้ถ่ายภาพที่สวยงาม หาชมได้ยาก และมีคุณค่าทั้งด้านศิลปะและวิทยาศาสตร์ ภาพถ่ายดาราศาสตร์ถือเป็นสื่อการเรียนรู้ที่ใกล้ตัว สร้างความประทับใจให้กับผู้ที่พบเห็นได้ไม่ยาก อีกทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจในการสังเกตและศึกษาค้นคว้าหาคำตอบอย่างมีเหตุมีผล ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แม้ว่าปีนี้จะเป็นอีกปีที่ทุกคนต้องเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้รูปแบบการใช้ชีวิตต่างไปจากเดิม แต่ทุกท่านก็ยังคงมุ่งมั่น ตั้งใจ และไม่หยุดพัฒนาฝีมือด้านการถ่ายภาพดาราศาสตร์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลงานภาพถ่ายดาราศาสตร์ของทุกท่านจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักถ่ายภาพ รวมถึงเยาวชนรุ่นใหม่ให้สนใจเข้ามาศึกษาความมหัศจรรย์ของดาราศาสตร์มากยิ่งขึ้น นายธีรวัฒน์ ไชยกุลเจริญสิน เจ้าของภาพ “เสาแห่งแสง Light Pillars” รางวัลชนะเลิศ ประเภทภาพถ่ายปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก เปิดเผยว่า ภาพนี้บันทึกเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2564 เวลาประมาณ 21:08 น. บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า จังหวัดระยอง ตอนแรกตั้งใจจะไปถ่ายทางช้างเผือก แต่สภาพอากาศแปรปรวนมากราวกับว่าจะเกิดฟ้าผ่าได้ตลอดเวลา ทันใดนั้นเองก็สังเกตเห็นแสงประหลาดเต็มท้องฟ้า จึงตั้งกล้องถ่ายภาพแบบไทม์แลปส์ทิ้งไว้โดยไม่รู้ว่าคือปรากฏการณ์อะไร ภายหลังมารู้ว่าเป็นปรากฏการณ์เสาแสง ซึ่งหาชมได้ยากในประเทศไทย สำหรับครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้ส่งภาพถ่ายเข้าประกวด ปรากฏว่าได้รับรางวัลชนะเลิศ ถือเป็นเกียรติและรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก ปรากฏการณ์เสาแห่งแสง หรือ Light Pillars เกิดจากการที่มีผลึกน้ำแข็งรูปแผ่นแบนจำนวนมากอยู่ในอากาศ ในตำแหน่งกึ่งกลางระหว่างแหล่งกำเนิดแสงและผู้พบเห็น ทำให้แสงจากแหล่งกำเนิดแสงสะท้อนผิวล่างของผลึกน้ำแข็งเหล่านี้ พุ่งตรงไปยังผู้พบเห็นทำให้มองเห็นเป็นเส้นแสงในแนวดิ่ง ในประเทศที่มีอากาศหนาวเย็นจัด ผลึกน้ำแข็งดังกล่าวมักล่องลอยอยู่ใกล้พื้น ทำให้เห็นเสาแสงพุ่งขึ้นจากพื้น ส่วนกรณีปรากฏการณ์เสาแสงในประเทศไทย เกิดจากผลึกน้ำแข็งในเมฆระดับสูง เช่น เมฆซีร์โรสเตรตัส (Cirrostratus) ทำหน้าที่เป็นตัวสะท้อนแสง จึงเห็นเสาแสงจะปรากฏอยู่สูงจากพื้นค่อนข้างมาก ถือเป็นปรากฏการณ์ที่หาชมค่อนข้างยากในประเทศในแถบเขตร้อน นายจิโรจน์ จริตควร เจ้าของภาพ “เส้นแสงดาวในฝนดาวตกเจมินิดส์” รางวัลชนะเลิศ ประเภทภาพถ่ายวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วมีปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ที่เหมาะแก่การสังเกตการณ์เนื่องจากไร้แสงจันทร์รบกวน จึงวางแผนถ่ายภาพปรากฏการณ์ดังกล่าว เดิมทีตั้งใจจะไปถ่ายที่สามพันโบก จังหวัดอุบลราชธานี แต่เมื่อตรวจสอบสภาพอากาศแล้วพบว่ามีกลุ่มเมฆ จึงเปลี่ยนแผนย้ายไปที่อุทยานแห่งชาติศรีน่าน จังหวัดน่าน เมื่อไปถึงก็หามุมถ่ายภาพตั้งแต่ช่วงบ่าย พอตกค่ำก็ตั้งกล้องถ่ายเก็บภาพไปเรื่อยๆ จนถึงรุ่งเช้า ได้ภาพรวม 700 กว่าภาพ จากนั้นนำภาพทั้งหมดมารวมกันด้วยเทคนิคสแต็คกิ้ง เกิดเป็นภาพเส้นแสงดาวที่แสดงให้เห็นว่าโลกหมุนรอบตัวเอง อีกทั้งยังมีเส้นแสงของฝนดาวตกเจมินิดส์ติดมาด้วย สำหรับปีที่แล้วได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง แต่ในปีนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศจึงรู้สึกดีใจมาก เหมือนว่าฝีมือของตนได้พัฒนาขึ้นอีกขั้น เป็นความภาคภูมิใจ ทั้งๆ ที่ตลอดมาถ่ายภาพเป็นงานอดิเรกเท่านั้น แต่ก็เริ่มจริงจังขึ้นมาเรื่อยๆ ปัจจุบันถ่ายภาพดาราศาสตร์มาประมาณ 4 ปีแล้ว และกำลังจะขยับไปถ่ายภาพวัตถุในห้วงอวกาศลึกซึ่งยากขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง สดร. จัดกิจกรรมประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์เป็นประจำทุกปี ต่อเนื่องเป็นปีที่ 14 แบ่งประเภทภาพถ่ายออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ ภาพถ่ายวัตถุในห้วงอวกาศลึก ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ วัตถุในระบบสุริยะ วิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ และปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก ปีนี้มีภาพส่งเข้าประกวดกว่า 400 ภาพ แม้จำนวนภาพถ่ายในปีนี้จะลดลงไปบ้างตามสถานการณ์ แต่ภาพทุกภาพที่ส่งเข้ามายังคงงดงามและมหัศจรรย์ สำหรับภาพถ่ายที่ได้รับรางวัลทั้งหมดจะนำไปต่อยอดผลิตสื่อการเรียนรูปดาราศาสตร์ในรูปแบบต่างๆ ของ สดร. อาทิ ปฏิทินดาราศาสตร์ จัดทำนิทรรศการภาพถ่ายดาราศาสตร์ในโอกาสต่างๆ ให้ประชาชนได้ยลโฉม และสัมผัสมหัศจรรย์ความสวยงามของท้องฟ้า ดวงดาว รวมถึงปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ต่าง ๆ อย่างทั่วถึง ผลการตัดสินการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ประจำปี 2564 หัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์” มีดังนี้ #ประเภทภาพถ่ายวัตถุในห้วงอวกาศลึก (Deep Sky Objects) รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ภาพ Monoceros Rhapsody ผลงานของ นายวชิระ โธมัส รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ภาพ Christmas Tree Cluster (NGC 2264) ผลงานของ นายกิจจา เจียรวัฒนกนก รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ภาพ The Crescent Nebula (NGC 6888) ผลงานของ นายกีรติ คำคงอยู่ รางวัลชมเชย ได้แก่ภาพ California Nebula ผลงานของ นายรัตถชล อ่างมณี #ประเภทภาพถ่ายปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ภาพ จันทรุปราคาบางส่วน ผลงานของ นายวิศว จงไพบูลย์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ภาพ The Great Conjunction 2020 ผลงานของ นายกีรติ คำคงอยู่ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ภาพ Annular Solar Eclipse ผลงานของ นายกษิดิศ ลี่อำนวยเจริญ รางวัลชมเชย ได้แก่ภาพ Geminids Meteor Shower Over Thai Sakura Field ผลงานของ นายนราธิป รักษา #ประเภทภาพถ่ายประเภทวัตถุในระบบสุริยะ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ภาพ ดาวอังคารใกล้โลก 2563 ผลงานของ นายชยพล พานิชเลิศ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ภาพ Lunar Phases ผลงานของ นายนราธิป รักษา รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ภาพ The Jupiter with IO and IO’s Shadow ผลงานของ นายกีรติ คำคงอยู่ รางวัลชมเชย ได้แก่ภาพ Moon in High Dynamic Range ผลงานของ นายวชิระ โธมัส #ประเภทภาพถ่ายวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ภาพ เส้นแสงดาวในฝนดาวตกเจมินิดส์ ผลงานของ นายจิโรจน์ จริตควร รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ภาพ C/2020 F3 (NEOWISE) and Shiprock ผลงานของ นายวิศณุ บุญรอด รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ภาพ Zodiac Light ผลงานของ นายชัชชัย จั่นธนากรสกุล รางวัลชมเชย ได้แก่ ภาพปลายฤดู ที่ปลายนา วัดนาคูหา ผลงานของ นายวชิระ โธมัส #ประเภทภาพถ่ายปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ภาพ เสาแห่งแสง หรือ Light Pillars ผลงานของ นายธีรวัฒน์ ไชยกุลเจริญสิน รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ภาพ Streamer ผลงานของ นายสุภฉัตร วรงค์สุรัติ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ภาพ Mock Mirage Sunrise x Green Flash ผลงานของ นายกษิดิศ ลี่อำนวยเจริญ รางวัลชมเชย ได้แก่ภาพ ธรรมชาติโชว์สวย ผลงานของ นางสาวนลิน ทองใหญ่ ดาวน์โหลดภาพถ่ายดาราศาสตร์ที่ได้รับรางวัลและภาพพิธีมอบรางวัลได้ที่ https://bit.ly/AstrophotographyContest2021