ภารกิจสำคัญเพื่อพิทักษ์โลกและชาวโลก จากดาวเคราะห์ที่อาจจะพุ่งชนโลกทำให้โลกดับสลายได้ โดยจะทดลองพุ่งชนดาวไดมอร์ฟอส จากนั้นจะวิเคราะห์อย่างละเอียดถึงผลกระทบทั้งหมดเพื่อประมวลเป็นข้อมูลป้องกันอย่างสมบูรณ์แบบที่สุด แผนโครงการวางไว้ 8 ปี ใช้งบฯกว่าหมื่นล้านบาท เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ "นับถอยหลัง "ยาน DART" ในภารกิจพุ่งชนดาวเคราะห์น้อย ทะยานขึ้นสู่อวกาศ 24 พ.ย.นี้ ! ภารกิจ DART เป็นภารกิจแรกที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการป้องกันดาวเคราะห์ (Planetary defense) โดยจะทดสอบวิธีการเบี่ยงเบนวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยไม่ให้พุ่งชนโลก สำหรับภัยคุกคามที่เกิดจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อย แม้จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้จริง แต่นับว่ามีความเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำมากและสามารถป้องกันได้ ยาน DART จึงเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะช่วยไขความเข้าใจ เกี่ยวกับการปกป้องโลกจากภัยคุกคามเหล่านี้ #นี่คือการซ้อมรับมือมหันตภัยจากนอกโลก แนวทางการรับมือกับดาวเคราะห์น้อยที่จะเข้ามาชนโลกมีหลายวิธี ตั้งแต่การยิงขีปนาวุธหรือระเบิดนิวเคลียร์ใส่ดาวเคราะห์น้อยให้แตกเป็นเสี่ยงๆ ไปจนถึงการสร้างยานขนาดใหญ่เพื่อให้แรงโน้มถ่วงของยานลำนั้นค่อยๆ เบี่ยงเบนวิถีการโคจรของดาวเคราะห์น้อยออกไปจากวงโคจรเดิม สำหรับวิธีการหนึ่งที่ถือว่าอยู่กึ่งกลางระหว่างการยิงระเบิดนิวเคลียร์ หรือส่งยานลำยักษ์ไปเบี่ยงเบนวิถี นั่นคือ การส่งยานหรือฝูงยานพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยด้วยอัตราเร็วสูงเพื่อให้การเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อยเบี่ยงเบนไป องค์การนาซาของสหรัฐฯ จึงเริ่มโครงการ “Double Asteroid Reditection Test” หรือ DART สร้างยานลำแรกในการทดสอบวิธีการพุ่งชนเพื่อเบี่ยงเบนวงโคจรของดาวเคราะห์น้อย โดยมีกำหนดส่งขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 ก่อนที่ยานจะถูกบังคับให้พุ่งชนดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอส (Dimorphos) ดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอส มีขนาดเพียง 160 เมตร และกำลังโคจรอยู่รอบดาวเคราะห์น้อยดีดิมอส (Didymos) ที่มีขนาด 780 เมตร จึงอาจกล่าวได้ว่า ไดมอร์ฟอสเป็นดาวบริวารของดีดิมอส นักวิทยาศาสตร์มองว่าดาวเคราะห์น้อยทั้ง 2 ดวงนี้ เป็นเป้าหมายที่เหมาะสำหรับยาน DART เนื่องจากทั้งคู่มีขนาดเล็ก หากมองจากโลกจะเห็นดาวเคราะห์น้อยทั้ง 2 โคจรผ่านหน้ากันและกัน กล้องโทรทรรศน์บนโลกจะสังเกตเห็นทั้งคู่เป็นจุดสว่างจุดเดียวที่มีความสว่างเปลี่ยนแปลงไปตามจังหวะการโคจร โดยนักวิทยาศาสตร์สามารถคำนวณคาบการโคจรของดาวเคราะห์น้อยทั้งสองได้จากการเปลี่ยนแปลงนี้ และเมื่อ DART พุ่งชนสำเร็จ คาบการเปลี่ยนแปลงแสงสว่างก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม บ่งชี้ว่า DART สามารถเบี่ยงการโคจรและวิถีของดาวเคราะห์น้อยได้สำเร็จ อย่างไรก็ตามการพุ่งชนของยาน DART ในครั้งนี้จะไม่เบี่ยงเบนวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยทั้งสองจนทำให้เกิดอันตรายต่อโลก เนื่องจากดาวเคราะห์น้อยคู่ดีดิมอส-ไดมอร์ฟอสอยู่ห่างจากโลกออกไปพอสมควร นอกจากนี้ อีกสองปีถัดไปหลังสิ้นสุดภารกิจ DART องค์การอวกาศยุโรป (ESA) มีแผนจะส่งยานเฮรา (Hera) ไปสำรวจดาวเคราะห์ดีดิมอสและไดมอร์ฟอสอย่างละเอียด ซึ่งจะทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถวิเคราะห์หลุมอุกกาบาตที่เกิดจากการพุ่งชนของยาน DART และทำความเข้าใจถึงผลกระทบทั้งหมดจากภารกิจของยาน DART ได้อีกด้วย โครงการยาน DART จะกินเวลานานกว่า 8 ปี และใช้งบประมาณทั้งหมด 324.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 10,600 ล้านบาท) ซึ่งรวมถึงการพัฒนายาน จรวดที่ใช้ส่งยาน และการปฏิบัติภารกิจจนถึงช่วงสิ้นสุดภารกิจในปลายปี พ.ศ.2565 #ในตอนหน้า เราจะมาติดตามกันต่อว่า ยาน DART มีส่วนประกอบและกระบวนการทำงานอย่างไรบ้าง เพื่อให้การป้องกันโลกจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยนั้นสมบูรณ์แบบที่สุด เรียบเรียง : พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร. อ้างอิง : https://www.planetary.org/space-missions/dart"