ท้องฟ้าไม่หมดดาว มนุษย์เราย่อมไม่หมดหวัง ยิ่งวงการนักวิทยาศาสตร์-ดาราศาสตร์ ต่างพยายามค้นหา-รู้จัก-เข้าใจสิ่งต่างๆ ในอวกาศให้ได้มากที่สุดเพื่อจะย้อนกลับมาตอบโจทย์ที่มาความเป็นมาและที่จะเป็นไปของโลกใบนี้ได้ โดยเฉพาะการค้นหาสิ่งมีชีวิตและการค้นพบบ้านหลังใหม่ที่มนุษย์โลกจะสามารถไปใช้ชีวิตอยู่บนนั้นได้ ทั้งนี้ เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ "Proxima Centauri b ดาวเคราะห์ในระบบดาวฤกษ์ที่ใกล้โลกที่สุด จะสามารถเป็นบ้านหลังใหม่ของมนุษย์ได้หรือไม่? ภาพที่เห็นนี้คือภาพวาดในจินตนาการ จำลองความเป็นไปได้บนดาวเคราะห์ที่ชื่อ​ Proxima Centauri b หากเราอยู่บนดาวเคราะห์นั้นจะมองเห็นดาวฤกษ์แม่ Proxima Centauri A ขนาดเล็กและริบหรี่ กำลังโคจรรอบดาวคู่ Alpha Centauri A และ B ที่อยู่ไกลออกไป พื้นผิวของดาวเคราะห์ Proxima Centauri b นั้นคล้ายโลกขนาดยักษ์ที่แห้งแล้ง แต่ก็ไม่แห้งสนิทและสามารถพบน้ำเป็นของเหลวได้ในบางส่วนของพื้นผิว บ่งบอกถึงความเป็นไปได้ที่ดาวดวงนี้อาจจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่ หรืออาจจะเหมาะสำหรับเป็นถิ่นที่ตั้งสำหรับบ้านหลังใหม่ของมนุษยชาติในอนาคต แต่ภาพในจินตนาการนี้ จะเป็นจริงได้แค่ไหน? - การค้นพบ Proxima Centauri b Proxima Centauri b ถูกค้นพบในปี 2016 เป็นดาวเคราะห์ที่มีมวลมากกว่าโลกเล็กน้อย โคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ Proxima Centauri ซึ่งเป็นดาวแคระแดง (Red Dwarf) นี่คือระบบดาวฤกษ์ที่ใกล้ระบบสุริยะของเราที่สุด ห่างออกไปเพียง 4.2 ปีแสง Proxima Centauri b โคจรอยู่ค่อนข้างใกล้ดาวฤกษ์แม่ที่ระยะห่างเพียง 5% ของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ และหนึ่งปีบนดาวดวงนี้นั้นกินเวลาเพียง 11.2 วันบนโลก แต่ด้วยดาวแคระแดงเป็นดาวฤกษ์ที่มีขนาดเล็กและอุณหภูมิต่ำ หมายความว่าอุณหภูมิบนพื้นผิวของดาวเคราะห์ดวงนี้อาจจะไม่ร้อนไม่หนาวจนเกินไป เอื้อต่อการที่จะพบน้ำในสถานะของเหลวบนพื้นผิวได้ ซึ่งเท่ากับว่าดาวเคราะห์ดวงนี้นั้นจัดอยู่ในขอบเขตที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต (habitable zone) การค้นพบนี้ย่อมนำไปสู่ความเป็นไปได้ที่อาจจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวเคราะห์ดวงนี้ หรืออย่างน้อยๆ ก็อาจจะมีสภาวะพอเหมาะเพียงพอที่ในวันหนึ่งข้างหน้า เราอาจจะไปตั้งรกรากอาศัยอยู่ แต่... ความเป็นจริงนั้นอาจจะซับซ้อนกว่านั้น และดาวดวงนี้ยังมีอะไรอีกมากที่เรายังไม่ทราบ - สิ่งที่เรายังไม่รู้ แม้ว่าเราจะสามารถยืนยันได้ว่ารอบดาวฤกษ์ Proxima Centauri นั้นมีดาวเคราะห์โคจรอยู่ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราทราบทุกอย่างเกี่ยวกับดาวเคราะห์ดวงนี้ ดาวเคราะห์นั้นมีขนาดเล็ก และแสงที่หรี่กว่าดาวฤกษ์เป็นอย่างมาก แม้กระทั่งระบบดาวฤกษ์ที่ใกล้เราที่สุด เราก็ยังไม่มีเทคโนโลยีเพียงพอที่จะสังเกตดาวเคราะห์นี้ได้โดยตรง การค้นพบดาวเคราะห์นี้ทำโดยการสังเกตแสงจากดาวฤกษ์มีการเลื่อนทางแดงและทางน้ำเงินเล็กน้อย ซึ่งบ่งบอกถึงความเร่งที่ถูกกระทำต่อดาวฤกษ์โดยมวลที่เรามองไม่เห็นที่โคจรไปรอบๆ ทำให้เราสามารถวัดมวลที่วนอยู่รอบๆ ได้ว่ามีมวลประมาณ 1.2 เท่าของมวลโลก และมีคาบการโคจรทุกๆ 11.2 วัน อย่างไรก็ตาม การศึกษาเพิ่มเติมยืนยันว่าวงโคจรของดาวเคราะห์น่าจะคลาดไปจากแนวสายตาจากมุมมองบนโลกของเรา ทำให้ไม่สามารถสังเกตปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ผ่านหน้าดาวฤกษ์ (transit) ได้ การขาดข้อมูลสำคัญนี้ไป ทำให้ไม่สามารถยืนยันความเอียงของวงโคจรได้ จึงทำให้การประมาณมวลของดาวเคราะห์อาจคาดเคลื่อนไปได้ เราจึงทราบได้แค่เพียงว่ามวลของดาวเคราะห์ดวงนี้อาจจะอยู่ระหว่าง 1.1 จนถึง 2.7 เท่าของโลก นอกจากนี้ การสังเกตการณ์ดาวเคราะห์ในปัจจุบันนั้นบอกเราได้เพียงค่ามวลและคาบการโคจร มวลที่ใกล้เคียงกับโลกบ่งบอกเราว่านี่น่าจะเป็นดาวเคราะห์หินเช่นโลก แต่เราไม่สามารถทราบอะไรได้เลยเกี่ยวกับองค์ประกอบของแก๊สที่อยู่ในชั้นบรรยากาศ หรือแม้กระทั่งว่าดาวดวงนี้มีชั้นบรรยากาศหรือไม่ แม้ว่าอุณหภูมิพื้นผิวของดาวดวงนี้อาจจะพอเหมาะให้น้ำจะคงอยู่ในรูปของเหลวได้ แต่ก็อาจจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยหากดาวเคราะห์ดวงนี้ไม่ได้มีน้ำตั้งแต่แรก - ลมสุริยะและการลุกจ้า ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เราพอจะทราบได้จากดาวเคราะห์ดวงนี้ จากตำแหน่งที่อยู่ใกล้ดาวฤกษ์ ทำให้เราอนุมานได้ว่าดาวเคราะห์ดวงนี้นั้นจะประสบกับพายุสุริยะที่แรงกว่าที่โลกของเราเจอถึง 2,000 เท่า ซึ่งหากดาวเคราะห์ดวงนี้นั้นไม่มีสนามแม่เหล็กที่แข็งแรงเพียงพอ ชั้นบรรยากาศอาจจะถูกปัดเป่าจนหลุดออกไปหมด เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นบนดาวอังคารในระบบสุริยะของเรา แต่หากดาวดวงนี้มีสนามแม่เหล็กที่แรงพอ ก็อาจจะพอป้องกันการสูญเสียชั้นบรรยากาศจากพายุสุริยะได้ นอกจากนี้เรายังพบว่าดาวฤกษ์ Proxima Centauri นี้เป็นดาวฤกษ์ประเภทลุกจ้า (flare star) ทื่มีการระเบิดพลังงานออกมาอยู่บ่อยครั้ง จากอัตราการลุกจ้าบนดาวดวงนี้ทำให้คาดการณ์กันได้ว่า หากดาวเคราะห์นี้มีชั้นบรรยากาศโอโซนคล้ายโลก ชั้นโอโซนจะถูกปัดเป่าจนหมดไปภายในเวลาเพียงไม่กี่แสนปี แต่เราพบว่าการลุกจ้าบนดาวฤกษ์ส่วนมากนั้นมักจะเกิดในละติจูดสูงๆ ของดาวฤกษ์ หากดาวเคราะห์ดวงนี้นั้นมีวงโคจรอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรของดาวฤกษ์ พลังงานที่ถูกปลดปล่อยออกมาในการลุกจ้าส่วนมากนั้นอาจจะพุ่งออกไปในแนวที่ไม่ได้เจอกับดาวเคราะห์ และอาจจะทำให้ดาวเคราะห์สามารถคงชั้นบรรยากาศเอาไว้อยู่ได้ - Tidal Locking ด้วยวงโคจรที่ใกล้ดาวฤกษ์เป็นอย่างมาก ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าดาวเคราะห์ดวงนี้นั้นอาจจะหันด้านเดิมเข้าหาดาวแม่เสมอ เรียกว่า Tidal Locking ซึ่งหากเป็นเช่นนี้นั้น สภาวะบนดาวเคราะห์อาจจะแตกต่างกันได้อย่างสุดขั้ว ดวงอาทิตย์บนดาวดวงนี้จะไม่มีวันขึ้นและตก แต่จะลอยค้างอยู่ที่เดิมบนท้องฟ้าตลอด นั่นหมายความว่า "ด้านกลางวัน"​ ของดาวเคราะห์อาจจะร้อนระอุถูกแผดเผาอยู่ตลอดเวลาไม่มีที่สิ้นสุด ในขณะที่ด้านกลางคืนอาจจะอยู่ในรัตติกาลอันเย็นยะเยือกไม่มีที่สิ้นสุดเช่นกัน หากมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวเคราะห์เช่นนี้ สิ่งมีชีวิตนั้นอาจจะปรับตัวให้อยู่ได้เพียงแถบบางๆ ระหว่างแถบอันสุดขั้วทั้งสองนี้ และใช้ชีวิตอยู่ในแดนสนธยาระหว่างกลางวันและกลางคืนไปตลอดชั่วชีวิตของพวกมัน แต่อีกทางออกหนึ่งที่เป็นไปได้ก็คือ หากดาวเคราะห์นี้มีชั้นบรรยากาศที่หนามากๆ อากาศที่หนาอาจจะสามารถช่วยถ่ายเทอุณหภูมิระหว่างซีกกลางวันและกลางคืน ไม่ให้มีอุณหภูมิที่แตกต่างกันมากจนเกินไป คล้ายกับดาวศุกร์ ทำให้แถบบางๆ ที่อาจจะเอื้อต่อการดำรงชีวิตบนดาวเคราะห์ดวงนี้ขยายเพิ่มมากยิ่งขึ้น แต่หากดาวเคราะห์ดวงนี้ไม่มีปรากฏการณ์ Tidal Locking แต่อยู่ในวงโคจรที่มี resonance เช่น 3:2 spin-orbit resonance (หมุนรอบตัวเอง 3 ครั้งในขณะที่หมุนรอบดวงอาทิตย์ 2 ครั้ง) คล้ายกับของดาวพุธในระบบสุริยะ ก็เป็นไปได้ว่าอาจมีบริเวณที่เอื้อให้เราไปอยู่อาศัยแพร่กระจายตลอดแถบศูนย์สูตรของดาวเคราะห์ นักดาราศาสตร์เชื่อว่า ปัจจัยที่เป็นตัวสำคัญที่สุดที่จะกำหนดถึงความเป็นไปได้ของชีวิตบนดาวดวงนี้นั้น จะขึ้นอยู่กับว่าดาวเคราะห์ดวงนี้นั้นจะสามารถรักษาชั้นบรรยากาศเอาไว้ในช่วงแรกได้หรือไม่ จากอัตราพายุสุริยะที่ดาวดวงนี้จะต้องเจอนั้น เป็นไปได้สูงว่า Proxima Centauri b จะต้องสูญเสียน้ำมากกว่าน้ำที่มีทั้งหมดบนโลกไปภายใน 100-200 ล้านปีหลักจากที่ถือกำเนิดขึ้น หากไม่มีสนามแม่เหล็กหรือกลไกอื่นที่คอยมาหยุดยั้งเอาไว้ - บ้านหลังใหม่ในอนาคต (?) สรุปก็คือ แม้ว่าดาวดวงนี้จะเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ใน habitable zone ของดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้เรามากที่สุด แต่ดาวเคราะห์ Proxima centauri b นั้นก็ยังมีสภาวะสุดขั้วหลายอย่าง และด้วยความไม่แน่นอนอีกหลายอย่างที่เรายังไม่ทราบเกี่ยวกับดาวดวงนี้ จึงยากที่จะฟันธงว่าดาวดวงนี้นั้นมีสิ่งมีชีวิตหรือไม่ หรือจะเอื้อต่อการไปตั้งรกรากบ้านหลังที่สองของมนุษย์หรือเปล่า เราจึงอาจจะต้องรอติดตามกันตอนต่อไป ในอนาคตอันใกล้นั้นมีการวางแผนการติดตามศึกษาเกี่ยวกับดาวเคราะห์นี้อยู่บ้าง แต่การที่ดาวดวงนี้นั้นไม่ได้เกิดปรากฏการณ์ transit จึงทำให้เป็นเรื่องยากที่เราอาจจะทราบข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ดวงนี้ ส่วนในอนาคตอันไกลนั้น สิ่งที่อาจจะใกล้เคียงที่สุด ก็คือโครงการ Breakthrough Starshot ที่ Stephen Hawking, Yuri Milner และ Mark Zuckerberg ได้ร่วมมือกันวางแผนจะส่งยานสำรวจที่ใช้โซลาร์เซล (solar sail) ไปยังดาว Alpha Centauri ในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งหากเราส่งยานไปยังดาวดวงนั้นได้จริง กล้องที่ติดกับดาวดวงนั้นอาจจะเป็นโอกาสที่ใกล้เคียงที่สุดที่เราจะตอบได้อย่างแน่ชัดจริงๆ ว่าดาวดวงนี้นั้นจะเหมาะที่จะเป็นบ้านที่สองของเราหรือไม่ เรียบเรียง : ดร. มติพล ตั้งมติธรรม - นักวิชาการดาราศาสตร์ สดร. ภาพ: ESO/M. Kornmesser อ้างอิง/อ่านเพิ่มเติม: [1] https://en.wikipedia.org/wiki/Proxima_Centauri [2] https://www.facebook.com/matiponblog/photos/400788343464711 [3] https://www.facebook.com/matiponblog/photos/498462977030580 [4] https://www.facebook.com/matiponblog/photos/a.255101608033386.1073741828..."