เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ "อีกหนึ่งภาพสุดตระการตา ค้างคาวสุดหลอนที่โบยบินอยู่ในห้วงอวกาศ NGC 6995 หรือที่รู้จักกันในชื่อ #เนบิวลาค้างคาว (Bat Nebula) มีความกว้างประมาณครึ่งองศา หรือเทียบเท่าขนาดปรากฏของดวงจันทร์บนท้องฟ้า เป็นส่วนเล็กๆ ที่อยู่ทางตะวันออกของเนบิวลาผ้าคลุมไหล่ (Veil Nebula) ซึ่งเป็นซากซูเปอร์โนวาขนาดมหึมา เศษซากของเมฆแก๊สที่ขยายตัวขึ้นจากการระเบิดของดาวฤกษ์มวลมหาศาลก่อเกิดเป็นรูปร่างคล้ายม่านทรงโค้งที่ปลิวไสวครอบคลุมพื้นที่เกือบ 3 องศาบนท้องฟ้าในกลุ่มดาวหงส์ (Cygnus) สำหรับภาพนี้ เกิดจากการรวบรวมข้อมูลภาพที่บันทึกโดยใช้แผ่นกรองแสงเฉพาะทาง เมฆแก๊สที่มองเห็นเป็นสีแดงมาจากการเปล่งแสงของอะตอมไฮโดรเจน รวมเข้ากับแสงโทนสีน้ำเงินที่มาจากการเปล่งแสงที่สว่างกว่าของอะตอมออกซิเจน เกิดเป็นภาพของเจ้าเนบิวลาค้างคาวสีสันสวยงามภาพนี้ นอกจากนี้ ฝั่งตะวันตกของเนบิวลาผ้าคลุมไหล่ก็มีลักษณะน่าสนใจ ซึ่งเราสามารถจินตนาการเป็นภาพที่ต่างๆ ได้อีก เช่น เนบิวลาไม้กวาดแม่มด (Witch's Broom Nebula) ราวกับว่านี่คือกลุ่มก้อนของเนบิวลาที่มีรูปร่างให้ความรู้สึกหลอนและลึกลับ ในขณะเดียวกันก็ขนาดใหญ่ยักษ์เกินจินตนาการ เรียบเรียง : นายภาณุ อุบลน้อย - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร. ภาพ : Howard Trottier อ้างอิง : https://apod.nasa.gov/apod/ap211027.html"