สัปดาห์พระเครี่อง / ราม วัชรประดิษฐ์ นับเป็นเหรียญพระสงฆ์เหรียญแรกของประเทศไทย และเป็นเหรียญยอดนิยมอันดับหนึ่งของจังหวัดราชบุรีทีเดียว วงการนักนิยมสะสมพระเครื่องและเหรียญคณาจารย์ให้ความนิยมอย่างสูงเนื่องจากมีอายุการสร้างเป็นรุ่นแรกๆ เรียกว่าเป็น “ปู่เหรียญ” เลยก็ว่าได้ โดยวัตถุประสงค์ในการจัดสร้าง ก็เพื่อแจกเป็นที่ระลึกเนื่องในการฌาปนกิจศพ เรียกกันว่า “เหรียญตาย” ซึ่งทั่วไปแล้วเหรียญประเภทนี้มักจะไม่เป็นที่นิยมสะสมและเล่นหากันนัก แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับ เหรียญตาย 2 เหรียญที่กลับได้รับความยอมรับและนิยมสะสมกันอย่างมาก นั่นก็คือ “เหรียญที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพ เสด็จในกรมฯ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์” เหรียญหนึ่ง และ “เหรียญพระพุทธวิริยากร” อีกเหรียญหนึ่ง สำหรับเหรียญแรกดูชื่อเหรียญแล้วทุกท่านย่อมประจักษ์กันเป็นอย่างดีว่าต้องได้รับความนิยมสูงอย่างแน่นอน ส่วนเหรียญที่สองคือ “เหรียญพระพุทธวิริยากร” นั้น ความพิเศษอยู่ที่ นับเป็นเหรียญพระสงฆ์เหรียญแรกของประเทศไทย และเป็นเหรียญยอดนิยมอันดับหนึ่งของจังหวัดราชบุรีทีเดียวครับผม ท่านเจ้าคุณพระพุทธวิริยากร (จิตร ฉันโน) ส่วนอัตโนประวัติของผู้สร้าง ท่านเจ้าคุณพระพุทธวิริยากร (จิตร ฉันโน) อดีตเจ้าอาวาสวัดสัตตนารถปริวัตร จังหวัดราชบุรี เป็นชาวราชบุรีโดยกำเนิด เกิดที่บ้านตำบลคลองยายแฟง อำเภอดำเนินสะดวก เมื่อปี พ.ศ.2390 บิดารับราชการ ท่านได้เริ่มศึกษาอักขระสมัยที่สำนักพระอาจารย์บ่าย วัดบางน้อย อำเภออัมพวา จนอายุครบอุปสมบทในปี พ.ศ.2411 จึงเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ณ วัดตาล อำเภอเมือง โดยมีหลวงพ่อปาน วัดบางคนทีเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายา “ฉันโน” เมื่อศึกษาด้านพระธรรมวินัยเป็นที่แตกฉานแล้วจึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อศึกษาทางด้านพระปริยัติธรรมเพิ่มเติม ณ สำนักพระธรรมราชานุวัตร (ต่าย) และสมเด็จพระมหาวีระวงศ์ (ยัง) จากนั้นจึงเดินทางกลับไปจำพรรษาที่วัดตาลดั้งเดิม ด้วยความที่ท่านเป็นพระที่ใฝ่ในสมถะและมีวัตรปฏิบัติฝ่ายธรรมยุติที่เคร่งครัดตามหลักของพระธรรมวินัย มีเมตตาธรรมและกรุณาธรรม จึงเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสและเคารพรักของเหล่าพุทธศาสนิกชนที่ได้มากราบนมัสการและรับฟังธรรมะจากท่าน ต่างก็ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ลูกหากันเนืองแน่นทั้งชาวราชบุรีและจังหวัดใกล้เคียง ท่านดูแลปกครองคณะสงฆ์ให้มีความประพฤติดี ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ และพัฒนาวัดวาอารามให้เจริญรุ่งเรือง ยิ่งกว่านั้นท่านยังเป็นที่โปรดปรานในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างมาก ท่านได้รับการแต่งตั้งและสถาปนาสมณศักดิ์เรื่อยมาตั้งแต่ ที่พระสมุห์จิตร เจ้าอาวาสวัดตาล พระครูอุดมธีรคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีสุริยวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ฝ่ายธรรมยุตมณฑลราชบุรี เจ้าอาวาสวัดสัตตนารถปริวัตร และสุดท้ายได้เป็นพระราชาคณะที่พระพุทธวิริยากร ท่านมรณภาพในปี พ.ศ.2457 สิริอายุรวม 68 ปี พรรษา 47 พรรษา และได้รับการโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงศพด้วย เหรียญพระพุทธวิริยากรด้านหน้า เหรียญพระพุทธวิริยากรด้านหน้า เหรียญพระพุทธวิริยากร เป็นเหรียญที่ระลึกสำหรับแจกในงานฌาปนกิจศพพระพุทธวิริยากร เมื่อปี พ.ศ.2458 ทำการจัดสร้างและปลุกเสกโดย พระครูวินัยธรรมอินทร์ (ปัญญาทีโป) ซึ่งเป็นศิษย์เอกและเป็นพระฐานานุกรมของท่านเจ้าประคุณพระพุทธวิริยากร คนส่วนใหญ่มักเรียกท่านว่า “พระครูเฒ่า” หรือ “พระครูอินเทวดา” เพราะท่านเป็นผู้มีความชำนาญสูงทั้งด้านโหราศาสตร์และไสยศาสตร์ เหรียญพระพุทธวิริยากร มีการสร้างด้วยกันหลายเนื้อ ทั้ง ทองแดง สัมฤทธิ์ และชินเงิน เป็นต้น ลักษณะรูปทรงของเหรียญจะคล้ายรูป “เต่า” หูเชื่อม บางคนจึงเรียกชื่อว่า “เหรียญเต่า” ด้านหน้า ตรงกลางเป็นรูปเหมือนพระพุทธวิริยากรครึ่งองค์ ล้อมรอบด้วยอักขระขอมอ่านว่า “อะสังวิสุโลปุสะพุภะ สังวินาปุกยะปะ” สำหรับ ด้านหลัง ส่วนบนเป็นอักขระขอมอ่านว่า “ทุ สะ มะ นิ” คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ซึ่งก็คือยอดหัวใจพระไตรปิฎก ช่วงกลางเป็นอักษรไทยว่า “ที่ระลึกในการฌาปะนะกิจ” ต่อลงมาเป็นอักขระขอม อ่านว่า “ฉันโน” ซึ่งเป็นฉายาของท่าน ล่างสุดเป็นปี พ.ศ.ที่จัดพิธีฌาปนกิจศพพระพุทธวิริยากรคือ “2458“ เหรียญพระพุทธวิริยากรด้านหน้า-หลัง เหรียญพระพุทธวิริยากรด้านหน้า-หลัง เหรียญพระพุทธวิริยากร นับเป็นเหรียญที่มีพุทธลักษณะแห่งความบริสุทธิ์และความประณีตวิจิตรของศิลปะโดยแท้ กอปรกับคุณงามความดีของท่านเจ้าประคุณพระพุทธวิริยากรที่ได้สร้างสมมา ที่สำคัญคือ พุทธคุณความศักดิ์สิทธิ์เป็นเลิศเป็นที่ปรากฏและกล่าวขานกันเรื่อยๆ มา ทำให้นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นเหรียญพระสงฆ์เหรียญแรกของไทยแล้ว ยังได้รับการยอมรับและยกย่องให้เป็นเหรียญอันดับหนึ่งของราชบุรี และได้รับความนิยมอย่างสูงในแวดวงนักนิยมสะสมเหรียญคณาจารย์มาตราบเท่าทุกวันนี้ครับผม เหรียญพระพุทธวิริยากรด้านหลัง