เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ "1994 PC1 ดาวเคราะห์น้อยขนาด 1 กิโลเมตร เข้าใกล้โลกที่สุด 18 มกราคมนี้ #เพียงผ่านมาใกล้ #ไม่พุ่งชน และ #ไม่เป็นอันตรายต่อโลก เพิ่งจะผ่านครึ่งเดือนแรกของปี พ.ศ.2565 มีเรื่องราวข่าวสารมากมายจากหลากหลายช่องทางเข้ามาให้เรารับรู้ ในวงการดาราศาสตร์ก็ยังมีข่าวน่าตื่นเต้นผ่านเข้ามาเป็นระยะๆ ขาประจำก็คือข่าวเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยเข้าใกล้โลก แต่จะเป็นเรื่องน่าวิตกจริงหรือไม่ วันนี้มีคำตอบ “1994 PC1” คือชื่อของดาวเคราะห์น้อยดวงล่าสุดที่เป็นข่าวในเดือนมกราคม พ.ศ.2565 ที่จะเข้ามาใกล้โลกมากที่สุด ในวันที่ 18 มกราคม 2565 ที่ระยะห่าง 1.98 ล้านกิโลเมตร หรือประมาณ 6 เท่าของระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์ แน่นอนว่าการพุ่งชนแทบจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ข่าวที่นำเสนอทั้งหมดจึงเป็นแค่การรายงานเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 กิโลเมตร ทำให้ถูกจัดอยู่ในรายชื่อของวัตถุอันตรายหากพุ่งชนโลก (Potentially hazardous object: PHO) เมื่อมีพาดหัวข่าวเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยที่เข้ามาใกล้โลก มักจะมีคำสำคัญที่พบบ่อยอยู่ 2 คำ ได้แก่ >> วัตถุใกล้โลก (Near Earth Object) หรือ NEO และ >> วัตถุที่มีโอกาสเป็นอันตราย (Potentially hazardous object) หรือ PHO สองคำนี้ใช้กับทั้งดาวเคราะห์น้อยและดาวหางที่มีขนาดใหญ่ และอาจเป็นอันตรายต่อโลก แต่ไม่ได้ยืนยันว่าจะมีการพุ่งชนเกิดขึ้น ปัจจุบันมีดาวเคราะห์น้อยในกลุ่มนี้มากกว่า 27,000 ดวง และไม่มีวัตถุใดที่มีโอกาสพุ่งชนโลกเกิน 1% รวมถึงมีหน่วยงานด้านดาราศาสตร์และอวกาศชั้นนำจากทั่วโลกคอยติดตามอยู่เสมอ ดังนั้น เมื่อเจอ 2 คำนี้อยู่ในเนื้อหาข่าว เราสามารถมั่นใจได้เลยว่า วัตถุดังกล่าวอยู่ในการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หากเป็นอันตรายต่อโลกจริง จะต้องมีการรายงานอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้อย่างแน่นอน นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งคำที่ไม่ค่อยปรากฏในเนื้อหาข่าวมากนัก คือ โตริโนสเกล (Torino scale) เป็นค่าตัวเลขที่บ่งบอกถึงความเป็นอันตรายของวัตถุ ถูกแบ่งเป็นระดับต่างๆ พิจารณาจากระดับพลังงานจลน์ของวัตถุ (ขึ้นกับค่ามวลและความเร็ว) และโอกาสที่จะเกิดจากการพุ่งชน มีค่าตั้งแต่จาก 0 คือ วัตถุพลังงานจลน์น้อยและไม่มีโอกาสพุ่งชน ไปจนถึงระดับ 10 คือวัตถุที่มีพลังงานจลน์มาก โอกาสพุ่งชน 100% มีความรุนแรงมากพอให้มวลมนุษยชาติสูญพันธ์ ระดับความอันตรายนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงตามข้อมูลและผลการคำนวณที่ได้ล่าสุด ปัจจุบันยังไม่มีการค้นพบดาวเคราะห์น้อยดวงใดที่มีค่าโตริโนเกินระดับ 1 แปลว่าเราไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องการพุ่งชนของวัตถุนอกโลก แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยเข้าใกล้โลกที่มักถูกสำนักข่าวต่างๆ นำไปอ้างอิงมากที่สุด คือ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ หรือ NASA แต่หากเข้าไปตรวจเช็คในเว็บไซต์หลักของนาซาแล้ว เรากลับไม่พบข่าวของดาวเคราะห์น้อยตามที่อ้างถึงเลย เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวอาจมาจากหน่วยงานย่อยที่กำกับดูแลโดยนาซาอีกทีหนึ่ง การเข้าเว็บไซต์ของนาซาโดยตรงจึงไม่สามารถเห็นข้อมูลที่สำนักข่าวนำเสนอหรือใช้อ้างอิงได้ อย่างไรก็ตาม เราได้รวบรวมแหล่งข้อมูลดาวเคราะห์น้อยที่เข้าใกล้โลกมาให้เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ด้วยตนเองแล้วว่ามีความเสี่ยงแค่ไหนที่จะมีการชนเกิดขึ้นมากให้ด้วยตามลิงก์ด้านล่าง รายชื่อดาวเคราะห์น้อยที่จะเข้าใกล้โลกในอนาคต https://www.minorplanetcenter.net รายชื่อของดาวเคราะห์ที่มีความเสี่ยงในการพุ่งชนโลกและถูกจับตาเป็นพิเศษ https://cneos.jpl.nasa.gov/sentry/ นอกจากดาวเคราะห์น้อย 1994 PC1 แล้ว ในเดือนมกราคมยังมีดาวเคราะห์น้อยอีกหลายดวงที่เข้ามาใกล้โลก ซึ่งสามารถทราบล่วงหน้าได้จากเว็บไซต์ด้านบน ปัจจุบันการเก็บข้อมูลและติดตามดาวเคราะห์น้อยเป็นความร่วมมือระดับนานาชาติ มีหอดูดาวและนักดาราศาสตร์ทั่วโลกติดตามเก็บข้อมูลอยู่เสมอ มีผลการคำนวณที่แม่นยำและอัพเดตตลอดเวลา ข้อมูลจากหน่วยงานที่รับผิดชอบจะมีความน่าเชื่อถือ ปราศจากอคติและการชี้นำมากที่สุด สามารถใช้อ้างอิงในการเผยแพร่ข่าวสารได้น่าเชื่อถือกว่าจากสำนักข่าวอื่นๆ เรียบเรียง :สิทธิพร เดือนตะคุ -เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ อ้างอิง : [1] https://cneos.jpl.nasa.gov/stats/totals.html [2] https://www.sciencealert.com [3] https://en.wikipedia.org/wiki/Near-Earth_object [4] https://en.wikipedia.org/wiki/Potentially_hazardous_object ภาพ: ดาวเคราะห์น้อยในระบบสุริยะที่มีการค้นพบแล้วมากกว่าหนึ่งล้านดวง ส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในบริเวณแถบดาวเคราะห์น้อย (Asteroid Belt) แต่มีบางส่วนที่มีวงโคจรเข้ามาใกล้วงโคจรของโลกและถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ต้องจับตาดูเป็นพิเศษเรียกว่าวัตถุใกล้โลก (Near Earth Object) (Image credit: NASA/JPL-Caltech)