กรมศิลปากรสางปัญหากำแพงเมืองสุพรรณบุรี ให้ประชาชนอยู่ร่วมกับโบราณสถาน พร้อมถ่ายโอนภารกิจการดูแลรักษาพื้นที่บริเวณรอบเจดีย์หมายเลข 2 ให้เทศบาลตำบลอู่ทอง ดูแลแทน นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนและ ร้อยเอกบุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ ผอ.สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี นายเจษฏา ชีวะวิชวาลกุล ผอ.สำนักสถาปัตยกรรม ลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าการบูรณะแนวคูเมือง กำแพงเมืองโบราณ จ.สุพรรณบุรี พร้อมประชุมหารือกับหน่วยงานราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงภูมิทัศน์และบริเวณใกล้เคียงโดยรอบให้ประชาชนที่พักอาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงให้สามารถอยู่ร่วมกับโบราณสถานได้ ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากปัญหาความไม่เข้าใจระหว่างกรมศิลปากร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชน ในการบูรณะกำแพงเมืองสุพรรณบุรีซึ่งมีความยาวประมาณ 3.6 กิโลเมตร โดยจากการหารือได้รับการตอบรับที่ดี มีข้อสรุปเบื้องต้นในการบูรณะ ส่วนพื้นที่ที่เป็นจุดที่สำคัญ จะพิจารณาความสูงที่เหมาะสมต่อการสร้างการรับรู้ถึงความเป็นเมืองสุพรรณบุรี ส่วนพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการสร้างการรับรู้ จะบูรณะในเชิงอนุรักษ์ ทั้งกล่าวอีกว่า ได้มอบแนวนโยบายหลักการบูรณะกำแพงเมืองที่อยู่ใต้ดิน ไม่จำเป็นต้องสร้างเพิ่มขึ้นมาให้ต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่นั้นๆ ได้ แต่ในส่วนที่โผล่ขึ้นมาเหนือดินแล้วให้มีการอนุรักษ์ ป้องกันไม่ให้หลักฐานเดิมสูญหายไป โดยการเสริมอิฐส่วนบนให้มีความสูงที่ดูแล้วบ่งบอกถึงความเป็นกำแพงเมืองได้ พร้อมกันนี้ได้ขอให้ร่วมมือกันแก้ปัญหากรณีที่มีผู้อยู่อาศัยในพื้นโบราณสถาน โดยจัดสรรพื้นที่ให้ประชาชนอพยพไปตั้งที่อยู่อาศัยใหม่ ใช้โมเดลเดียวกันการจัดสรรพื้นที่ของรัฐบาลในการแก้ปัญหาการรุกล้ำคูคลอง และในระยะยาวอาจจะต้องกันพื้นที่ส่วนนั้นออกจากการดูแลของกรมศิลปากร ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ เทศบาล หรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเข้ามาดูแลบริหารจัดการแทน “ยังได้หารือถึงการใช้ประโยชน์จากน้ำในคูเมือง เพื่อให้ประชาชนได้นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน และใช้ในการเกษตรให้มากที่สุด โดยมีการขุดลอกผักตบชวาและต่อเรือเก็บผักตบชวาขึ้นมา นอกจากนี้ได้หารือกับรองผู้ว่าฯ ด้วยว่า ผักตบชวาที่เก็บขึ้นมาแล้วน่าจะนำไปใช้แปรรูปต่อ ทั้งการทำปุ๋ยหมัก หรือผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งรองผู้ว่าฯ ได้รับไปหาหรือกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในชุมชนต่อไป ทั้งนี้กรมศิลปากรพยายามเข้าไปแก้ปัญหาอย่างครบวงจร ทั้งให้ผู้บุกรุกพื้นที่โบราณสถานอยู่ได้ ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่โบราณสถานที่ได้เต็มที่ และช่วยกันพัฒนาแหล่งโบราณคดี ขณะเดียวกันกรมศิลปากรได้สร้างการรับรู้ด้วยการสร้างแบบสันนิษฐาน เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ ได้ลักษณะของกำแพงเมืองและคูเมืองด้วย” “นอกจากนี้ยังได้ไปหารือกับนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลอู่ทอง เรื่องการถ่ายโอนภารกิจการดูแลรักษาพื้นที่บริเวณรอบเจดีย์หมายเลข 2 ต.อู่ทอง เพื่อให้ช่วยแบ่งเบาภาระการดูแลโบราณสถาน ซึ่งทางเทศบาลมีความยินดีที่รับเรื่องดังกล่าวเอาไว้ และจะมีการจัดทำแผนบูรณาการดูแลและใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดังกล่าวให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่โบราณสถานต่อไป” นายกิตติพันธ์ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าว เครดิตภาพ เฟซบุ๊กแฟนเพจกลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร