นางออง ซาน ซูจี รัฐมนตรีต่างประเทศ และประธานสภาที่ปรึกษาแห่งรัฐบาลเมียนมา ขึ้นกล่าวต่อที่ประชุมใหญ่สมัชชาแห่งสหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก โดยได้ใช้โอกาสนี้ ปกป้องความพยายามต่างๆ ของรัฐบาลเมียนมาในการแก้ปัญหาวิกฤติการปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในประเทศ เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ผู้ซึ่งถูกคำวิจารณ์อย่างมากว่า เธอไม่ได้แสดงบทบาท และให้ความสำคัญที่มากพอต่อปัญหาชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ กล่าวว่า รัฐบาลเมียนมาไม่กลัวการเข้ามาตรวจสอบความจริงโดยนานาชาติ แต่อยากให้ประชาคมระหว่างประเทศเข้าใจ และมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งทางรัฐบาลเมียนมาให้คำมั่นว่ามาตรการที่ยั่งยืนจะนำไปสู่สันติสุข ความมั่นคง และการพัฒนา เพื่อทุกๆ ชุมชนในประเทศ นางซูจียังกล่าวต่อว่า ขณะนี้รัฐบาลเมียนมากำลังดำเนินการขั้นตอนแบบองค์รวมเพื่อสร้างศูนย์กลางการพัฒนา ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว โดยมุ่งหวังเพื่อส่งเสริมความเข้าใจ และไว้เนื้อเชื่อใจ โดยได้ยกตัวอย่าง การจัดตั้งคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาแห่งรัฐยะไข่ ที่มีนายโคฟี อันนาน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเป็นประธาน เพื่อดูแลเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน และประเด็นความมั่นคงต่างๆ ซึ่งรัฐบาลจะสานต่อไความพยายามในการสร้างความสงบสุขในรัฐยะไข่ ทั้งนี้ ตั้งแต่การเพิ่มขึ้นของเสรีภาพในการแสดงออกหลังสิ้นสุดยุดรัฐบาลทหาร ทำให้กระแสต่อต้านมุสลิมถูกปลดปล่อยมาอีกครั้ง โดยเมื่อปี 2012 มีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน ในรัฐยะไข่ จากการปะทะระหว่างชาวพุทธ และมุสลิม ขณะที่ ราว 1.25 แสนคนต้องไร้ที่อยู่ และแม้ว่าชาวมุสลิมกลุ่มนี้จะอาศัยอยู่ในเมียนมามาหลายชั่วอายุคน แต่จำนวนไม่น้อยก็ยังถูกตัดสิทธิการลงคะแนนเลือกตั้งเมื่อปีที่ผ่านมา