เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ "ภาพถ่ายดวงดาวที่กำลังส่องแสงระยิบระยับราวกับดอกไม้ไฟบนท้องฟ้านี้ คือกระจุกดาว NGC 6717 บันทึกด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล กระจุกดาว NGC 6717 ค้นพบโดยวิลเลียม เฮอร์เชล นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2327 อยู่ห่างจากโลกประมาณ 20,000 ปีแสง มีตำแหน่งปรากฏบนท้องฟ้าบริเวณใจกลางทางช้างเผือกในกลุ่มดาวคนยิงธนู (Sagittarius) จัดเป็นกระจุกดาวทรงกลม (globular cluster) ที่มีดาวฤกษ์นับแสนดวงอยู่รวมกันอย่างหนาแน่นภายใต้แรงโน้มถ่วง จากภาพจะเห็นว่าบริเวณศูนย์กลางของกระจุกดาวทรงกลมนี้มีดาวฤกษ์ที่ส่องแสงสว่างเด่นอยู่ แท้จริงแล้วดาวฤกษ์สว่างเด่นเหล่านี้ไม่ใช่ประชากรของกระจุกดาว แต่เป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ระหว่างโลกและกระจุกดาวแห่งนี้ แสงของดาวฤกษ์ที่บันทึกได้มีลักษณะเป็นแฉกคล้ายกับกากบาท เนื่องจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลมีโครงยึดกระจกที่ขวางทางเดินแสงอยู่ แสงจากดาวฤกษ์จะเกิดการเลี้ยวเบน จึงเกิดเป็นภาพดาวที่มีแฉกสวยงามดังภาพประกอบ การศึกษาคุณสมบัติของกระจุกดาวทรงกลม NGC 6717 ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก เนื่องจากบริเวณนี้เต็มไปด้วยฝุ่นและแก๊สที่บดบังแสงจากกระจุกดาว ทำให้การสังเกตการณ์เป็นไปได้ยาก ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหานี้ นักดาราศาสตร์จึงใช้อุปกรณ์ถ่ายภาพที่มีชื่อว่า “Wide Field Camera 3” ซึ่งสามารถเก็บข้อมูลได้หลายช่วงความยาวคลื่น ทั้งช่วงแสงที่สายตามนุษย์มองเห็น ช่วงรังสีอัลตราไวโอเลต และช่วงรังสีอินฟราเรด ร่วมกับอุปกรณ์ Advanced Camera for Surveys หรือ ACS สำหรับการสังเกตการณ์ในครั้งนี้ เรียงเรียง : เกวลิน ทองโพธิ์ใหญ่ – เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. อ้างอิง : [1] https://www.nasa.gov/.../hubble-captures-a-sparkling-cluster [2] https://www.space.com/hubble-globular-cluster-galaxy..."