เล่าความหลังสยามรัฐ/ทองแถม นาถจำนง: ประวัติความเป็นมาของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ และม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช มีเขียนเป็นรายละเอียดไว้ โดยอาจารย์ สุกัญญา สุดบรรทัด อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “กำเนิดสยามรัฐ” แล้วก็ถึงตอนที่จะออกหนังสือพิมพ์สยามรัฐ “สยามรัฐ” นั้นอาจจะเรียกได้ว่าเป็นหนังสือพิมพ์คู่บุญของคึกฤทธิ์ เขาคือผู้ให้กำเนิดหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ อุปถัมป์กล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูมาเป็นเวลาช้านาน ทั้งสยามรัฐนั้นถ้าจะเทียบไปแล้วก็เหมือนเวทีแสดงความเห็นของคึกฤทธิ์ เป็นอาวุธทางการเมืองที่กลายเป็นหอกข้างแคร่ของรัฐบาลมาหลายยุคหลายสมัย คึกฤทธิ์ ต่างจากนักการเมืองอื่นๆ ที่ออกหนังสือพิมพ์ด้วยในแง่ที่ว่า เขาเองเป็นผู้ที่เข้าใจในจิตวิญญาณของหนังสือพิมพ์เป็นอย่างดี เนื่องจากตัวเขาเองก็เป็นนักหนังสือพิมพ์ ได้โดดมาทำงานหนังสือพิมพ์ด้วยตัวเอง มิใช่นั่งชี้นิ้วอยู่ห่างๆ ให้หนังสือพิมพ์ทำเช่นนั้นเช่นนี้ตามใจตนโดยที่ตนไม่รู้เรื่องหนังสือพิมพ์ และธรรมชาติของประชามติเลย จอมพล ป.ก็ดี พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ก็ดี ต่างก็มีหนังสือพิมพ์ของตนเอง แต่ในเกมของการต่อสู้ สยามรัฐกลับได้การหนุนจากประชาชนมากกว่า คึกฤทธิ์ได้ปล่อย (หรืออย่างน้อย ก็มีความตั้งใจที่จะปล่อย) ให้กองบรรณาธิการของเขามีอิสระในการตัดสินใจ ทั้งนี้ เพราะหนังสือพิมพ์ย่อมรู้ดีถึงธรรมชาติของตนที่จะต้องคอยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หากสยามรัฐต้องการจะเป็นหนังสือพิมพ์ที่ดีก็จะต้องปฏิบัติหน้าที่เช่นนี้โดยเคร่งครัด หนังสือพิมพ์ต้องไวต่อกระแสความเห็นของประชาชน และเหตุการณ์ที่ผันแปรไปทุกเมื่อเชื่อวัน เปรียบเสมือนขนนกที่ไหวสะเทีอนไปตามแรงลม หนังสือพิมพ์ที่เป็นฝักฝ่ายของกลุ่มพรรค หรือกลุ่มคน หรือรัฐบาล หากมุ่งหวังแต่จะเป็นกระบอกเสียงเช่นนั้นแล้ว ก็จะมีสายตาอันมืดบอดต่อกระแสความเห็นและความต้องการของประชาชน และกลับจะเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาชน เมื่อคึกฤทธิ์จะออกหนังสือสยามรัฐนั้น เขาก็ยังไม่ได้คิดจะเลิกการเมือง แต่เขามุ่งหวังจะให้หนังสือพิมพ์ฉบับนี้เป็นหนังสือพิมพ์ที่ดี ทำหนังสือพิมพ์ออกมาฉบับหนึ่ง คือหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ด้วยความคิดว่าจะใช้ฉบับนั้นแสดงความคิดทางการเมืองอย่างถูกต้อง ไม่เป็นพวกใครทั้งนั้น คือแสดงความเห็นโดยสุจริต เป็นหนังสือพิมพ์ซึ่งถือหลักหนังสือพิมพ์ทุกประการ คือถือเอาความเป็นจริงเป็นใหญ่ ไม่ลงข่าวที่ไม่มีความจริง ไม่กำหนดข่าวขึ้นเอง ไม่ใช้อารมณ์ในการเขียนข่าว ซึ่งปรากฏว่า สยามรัฐ ปฏิบัติเช่นนั้นได้จริง เป็นความแตกต่างจากหนังสือพิมพ์ในยุคนั้นโดยทั่วไปที่เน้นข่าวประเภทเร้าอารมณ์ ความแตกต่างดังกล่าวเมื่อผสมผสานเข้ากับความมีอารมณ์ขันของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ก็ทำให้สยามรัฐเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนอย่างรวดเร็ว บทวิจารณ์ทางการเมืองเป็นไปอย่างถึงพริกถึงขิง แต่สยามรัฐก็มิได้ละเลยเนื้อหาประเภทอื่นที่เกี่ยวพันกับการดำเนินชีวิตสาธารณชน ทั้งในด้านศิลปวัฒนธรรม ศาสนา สังคม และสภาวะแวดล้อม ดังนั้น ภาพของสยามรัฐจึงมิใช่ภาพของคึกฤทธิ์อย่างที่หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นกำลังวาดให้นักการเมืองผู้เป็นเจ้าของได้สดสวยกว่าตัวจริง ไม่ว่านักการเมืองผู้นั้นจะชั่วร้ายเลวทรามอย่างไรก็พยายามระบายสีสวยๆ หวังจะให้ประชาชนเชื่อ มันก็เลยกลายเป็นความน่าเบื่อ และสยามรัฐก็ได้เข้ามาแทรกเป็นตัวเลือกหนึ่งท่ามกลางความน่าเบื่อเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม ทั้งนี้และทั้งนั้นก็ต้องยกเครดิตส่วนหนึ่งให้แก่นักหนังสือพิมพ์อีกผู้หนึ่งคือ สละ ลิขิตกุล วันที่ 27 มีนาคม 2493 คึกฤทธิ์ได้เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดบวรนิเวศ ระหว่างที่บวชอยู่นั้น นายสละก็ได้ปวารณาตัวเป็นลูกศิษย์วัด เพราะในเวลานั้นตนกำลังตกงาน ลาออกจากหนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์ฉบับที่ลงเรื่องของคึกฤทธิ์เป็นประจำนั่นแหละ ปรึกษากันอยู่ไปมา พระก็เซ็นเช็คให้สละเอาไปเป็นทุนตั้งหนังพิมพ์ขึ้นมาฉบับหนึ่ง สละไปจัดการเรื่องต่างๆ ที่จำเป็น ได้สถานที่ตั้งโรงพิมพ์ที่ราชดำเนิน อันเป็นที่ตั้งของหนังสือพิมพ์สยามรัฐเดี๋ยวนี้ ครั้นพระสึกออกแล้ว ก็พากันไปปรึกษาธุรกิจกันต่อที่หัวหิน ตกลงกันว่าจะตั้งชื้อหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ว่า สยามรัฐ ตามตัวอักษรที่ปรากฏในสตางค์ในสมัยนั้น สยามรัฐ เมื่อแรกออกนั้น มี 8 หน้า ไม่มีโฆษณา คึกฤทธิ์เขียนเรื่องลงประจำวันหนึ่งๆ หลายเรื่อง และแต่ละเรื่องก็ล้วนเป็นที่นิยมของประชาชน เขามานั่งทำงานที่สำนักพิมพ์เป็นประจำ เขียนเรื่องยาวประจำฉบับ ได้แก่ สามก๊กฉบับนายทุน ตอน โจโฉนายกตลอดกาล เรื่องหนึ่ง บทบรรณาธิการเรื่องหนึ่ง “เก็บเล็กผสมน้อย” เรื่องหนึ่ง คึกฤทธิ์เขียนเรื่องยาวลงสยามรัฐ ติดต่อกันหลายเรื่อง และหลายปี เมื่อจบโจโฉก็ต่อด้วยฮวนนั้ง และนวนิยายที่ดังสะท้านแผ่นดินเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ความ “ดัง” ของคึกฤทธิ์เรียกได้ว่า “ดัง” ชนิดต่อเนื่อง ดังแล้วไม่มีตกอันดับ แตกต่างจากคนดังทั่วๆ ไป ที่พากันร่วงผล็อยเป็นดาวตกทีละดวงสองดวง เรื่องนี้ทำให้มีผู้วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง พูดกันต่างๆ นานา ซึ่งคึกฤทธิ์ยอมรับแต่เพียงว่า อันที่จริงเขาก็เป็นคนธรรมดาเท่านั้นเอง “เป็นคนดีก็มีคนอื่นเห็นผมเป็นคนชั่วก็มี บางคนก็ว่าเป็นนักปราชญ์รอบรู้ไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง บางคนก็เห็นว่าเป็นคนบัดซบ คนส่วนหนึ่งเห็นว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นคนซื่อตรง แต่อีกส่วนหนึ่งเห็นว่าเป็นคนตลบตะแลงปลิ้นปล้อนคบไม่ได้ แต่ทุกคนดูเหมือนจะมีความเห็นว่า หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช มิใช่คนธรรมดาสามัญ ซึ่งจะต้องมีโง่บ้างฉลาดบ้างปะปนกัน สุดแล้วแต่กรรมและกิเลสตัณหาจะพาไป ซึ่งความจริงผมก็เป็นเพียงแค่นั้น” แต่คนโดยมากก็ยังไม่ยอมรับว่า คึกฤทธิ์ เป็นเพียงแค่นั้น ผู้คนยังวิจารณ์กันต่อไปทั้งในแง่ลบและแง่บวก วิยากร เชียงกูร ได้ให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจว่า 1.การจะศึกษาบทความและข้อเขียนของคึกฤทธิ์นั้น จะต้องพิจารณาสถานการณ์บ้านเมืองหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกันไปด้วย “เพราะ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เป็นปัญญาชนที่สามารถหาเหตุผลมาอธิบายทรรศนะของตน ซึ่งเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ในแต่ละยุคได้เสมอ ดังนั้น ทรรศนะที่เขาใช้อธิบายจะเปลี่ยนไปจากเดิม หรือแม้แต่ขัดแย้งกับที่เขาเคยแสดงไว้ในยุคหนึ่งสมัยหนึ่งอย่างขาวกับดำ 2.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ มีแนวคิดจารีตนิยมแบบเสรีนิยม และวิพากษ์วิจารณ์ตัวบุคคลหรือคณะบุคคลมากกว่าโครงสร้างสังคมทั้งหมด สามารถยืนได้ตลอดมานับแต่สงครามครั้งที่สองจนถึงปัจจุบัน เพราะทรรศนะของเขาเป็นทรรศนะที่คนรับได้ในวงกว้าง ตั้งแต่ฝ่ายจารีตนิยม ถึงฝ่ายเสรีนิยม และไม่คุกคามความเป็นอันตรายต่อสถาบัน หรือผู้ที่มีอำนาจในสังคมที่ดำรงอยู่ การวิพากษ์วิจารณ์สังคมแม้จะดูรุนแรงบ้างในบางครั้งบางโอกาส แต่ก็เป็นความรุนแรงสำนวนโวหารถ้อยคำมากกว่าในเนื้อหาสาระ เขาเป็นนักปฏิบัติและไกล่เกลี่ยประนีประนอมมากกว่าเป็นนักเปลี่ยนแปลง เขาเห็นว่าการแสดงความเห็นนั้นควรให้เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง ไม่มองแต่ในแง่เลวร้ายเหมือนไม่มีอะไรดี ซึ่งจะทำให้คนหมดศรัทธา มีแต่ความท้อถอย ดังนั้นก็จะทำอะไรกันไม่ได้เลย”