สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม วัชรประดิษฐ์ 'เหรียญ' เป็นวัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และเริ่มสร้างมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งอาจแบ่งคร่าวๆ ได้แก่ - เหรียญหล่อโบราณ เช่น เหรียญจอบใหญ่ จอบเล็ก หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน เหรียญหลวงพ่อไปล่ วัดกำแพง - เหรียญที่ระลึกและเหรียญกษาปณ์ สร้างเป็นที่ระลึกในโอกาสต่างๆ และเหรียญที่ใช้แทนเงินตรา - เหรียญพระพุทธและเกจิอาจารย์ที่สร้างโดยโรงงาน ทีนี่เรามาเริ่มพิจารณาถึงขั้นตอนวิธีการดูเหรียญแท้เริ่มกันที่ 'เหรียญหล่อโบราณ' ก่อนเริ่มแรกให้สังเกตหลักใหญ่ๆ คือการเข้าดินนวลซึ่งจะผสมขี้วัวหมัก โบราณเรียก 'ดินขี้งูเหลือม' เมื่อเททองลงในหุ่นเทียนจะเกาะติดกับเนื้อองค์พระเห็นเป็นจ้ำๆ สีน้ำตาลแก่ และให้สังเกตบริเวณหูเชื่อมที่จะต้องจับโค้งติดกับตัวเหรียญ มักจะปรากฏเนื้อปลิ้นระหว่างปลายตัวปลิง (หูเหรียญ) กับพื้นเหรียญด้านหลัง มักจะมีการใช้ตะไบแต่งตัวเหรียญให้ได้รูป แต่รอยตะไบจะไม่ไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนใหญ่จะใส่ทองผสมตอนเทด้วย เนื้อทองจะเห็นเป็นจ้ำๆ ทั่วบริเวณเหรียญครับผม เหรียญพระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร ต่อมาก็เป็นประเภท 'เหรียญที่ระลึกและเหรียญกษาปณ์' โดยทั่วไปแล้วนั้น 'เหรียญที่ระลึกและเหรียญกษาปณ์' จะผลิตโดยรัฐบาลกลาง ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสยามเปิดประเทศรับอารยธรรมตะวันตก มีความนิยมสร้างเหรียญที่ระลึกในพระราชพิธีต่างๆ นอกจากนี้ ยังนำโลหะมาผลิตเป็นเงินเหรียญเรียก 'เหรียญกษาปณ์' ใช้เป็นเงินตราแทนระบบเงินดั้งเดิม เหรียญประเภทนี้ให้สังเกตให้ดีจะมีอยู่ 2 ประเภท ประเภทแรกเรียกว่า 'บล็อกนอก' หมายถึง สั่งผลิตจากเมืองนอก ตัวเหรียญจะมีความคมชัดลึก สวยงาม แข็งแกร่ง และมีอยู่ระยะหนึ่งซึ่งสยามสั่งเครื่องผลิตเหรียญเข้ามาผลิตเองแต่คุณภาพของเหรียญที่ออกมาไม่สู้ดี จะไม่คมชัดและไม่สู้จะเรียบร้อยนักเรียก 'บล็อกใน' ราคาเล่นหาก็จะถูกกว่าบล็อกนอก โดยทั่วไปแล้ววิธีสังเกตความเก๊แท้ของเหรียญที่ระลึกและเหรียญกษาปณ์ จะไม่ค่อยมีปัญหามากนักเพราะเหรียญประเภทนี้มีบันทึกการจัดสร้างที่มาที่ไป ตลอดจนจำนวนการสร้างที่ชัดเจน ในภาพรวมแล้วให้สังเกตขั้นต้นก่อนว่า หากเป็นเหรียญกษาปณ์ด้านหน้ากับด้านหลังจะวิ่งตรงกันข้าม ตัวอย่างเช่น เหรียญไอยราพรต ด้านหน้าจะเป็นพระบรมรูปตั้งขึ้น หากพลิกด้านหลังจะเห็นเป็นรูปช้างสามเศียรกลับหัวลง จะไม่ตั้งขึ้นไปในทิศทางเดียวกันทั้งสองด้านเด็ดขาด ลองหยิบเหรียญบาท เหรียญสิบ ของเราขึ้นมาดูสิครับ นั่นแหละเป็นเอกลักษณ์สำคัญของการดูเหรียญประเภทนี้ เหรียญพระพุทธวิริยากรด้านหน้า-หลัง นอกจากนี้ยังต้องดู 'เส้นล้ม' ให้เป็น คำว่าเส้นล้มหมายถึงถ้าเป็นเหรียญเก๊เขาจะนำไปถอดพิมพ์แล้วทำบล็อก หากเป็นเหรียญแท้เส้นต่างๆ ที่ตั้งขึ้นจากพื้นเหรียญจะคมชัดไม่เบลอหรือเส้นไม่ล้ม ถ้าเส้นเอียงจะทำให้เหรียญดูเบลอไม่คมชัด เขาเรียกเส้นล้มครับผม ต้องหัดดูให้ชำนาญ แรกๆ ก็จะดูไม่ค่อยเห็น แต่เอียงเหรียญแล้วหัดส่องไปเรื่อยๆ ก็จะเข้าใจเองครับ เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่ศุข รุ่นแรก ปี 2466 วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท สำหรับ 'เหรียญพระพุทธและเกจิอาจารย์' ที่สร้างโดยโรงงาน ต้องนับ เหรียญพระพุทธวิริยากร (จิตร ฉันโน) วัดสัต นารถปริวัตร ราชบุรี สร้างพ.ศ.2458 เป็นปู่เหรียญหรือเหรียญพระสงฆ์เหรียญแรก ส่วนเหรียญพระพุทธนั้นต้องยกให้เหรียญพระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นปีพ.ศ.2440 เป็นที่ระลึกคราวเสด็จกลับจากประพาสยุโรปครั้งแรก และช่วงนี้บรรดาเกจิคณาจารย์ก็นิยมสร้างเหรียญรูปเหมือนขึ้นเป็นที่ระลึกกันอย่างแพร่หลาย เหรียญหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ รุ่นแรก ปี พ.ศ. 2512 วัดแจ้งนอก จ.นครราชสีมา ส่วนใหญ่วัสดุที่ใช้จัดสร้างจะเป็นทองแดง จะมีเนื้อเงิน เนื้อทองบ้าง ก็สร้างขึ้นเพื่อถวายเจ้านายหรือแจกกรรมการ ส่วนบางท่านก็ใช้วัสดุที่หาง่ายในพื้นบ้าน เช่น ตะกั่ว ชิน สร้างเป็นเหรียญแจกชาวบ้าน เหรียญที่สร้างขึ้นโดยโรงงานนั้น จะใช้วิธี 'ปั๊ม' หากเป็นเหรียญยุคแรกๆ ก่อน พ.ศ.2470 จะมีข้อสังเกตพื้นฐานกล่าวคือ เหรียญส่วนใหญ่จะแกะขึ้นด้วยมือ ช่างที่แกะจึงต้องมีความชำนาญส่งผลให้ศิลปะของเหรียญได้รูปที่สวยงามแต่จะไม่ลึกนัก โดยแกะเป็นแม่พิมพ์สองตัวด้านหน้ากับด้านหลัง เมื่อกระแทกจะทำให้แผ่นทองแดงที่รีดบางตึงแน่น ผิวไม่ขรุขระ ทำให้ไม่เกิดขุมสนิมเขียว แดง ที่เรียกว่า 'รอยขี้กลาก' ยกเว้นการนำแม่พิมพ์เดิมมาสร้างเหรียญรุ่นเดิมเพิ่ม อาจจะเกิดรอยขี้กลากนิดหน่อย แต่ถ้าพบรอยขี้กลากต้องระวัง และมักจะทำเป็นแบบหูเชื่อมเพราะวิทยาการยังไม่ทันสมัย ซึ่งก็จะเห็นการเชื่อมหูด้วยตะกั่วบัดกรี ไม่ได้เป็นหูในตัวอย่างรุ่นหลังที่นิยมสร้างในปัจจุบันครับผม เหรียญหล่อหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จ.พิจิตร พิมพ์จอบใหญ่