ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง: อาคารพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งธรณีพิบัติภัยสึนามิบ้านน้ำเค็ม ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา มีพิธีเปิดในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 อย่างเป็นทางการ เรื่องวัตถุประสงค์ของการสร้างพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งฯ สึนามิบ้านน้ำเค็ม คงเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปทางหน้าสื่อก่อนหน้านี้ไปบ้างแล้ว ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ที่รำลึกถึงเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิอย่างรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน ที่คนไทยไม่เคยประสบเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อนเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 หรือ 18 ปีที่แล้ว โดยเฉพาะบ้านน้ำเค็มได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิ สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตผู้คน บ้านเรือน เรือประมง ฯลฯ หนักที่สุดก็ว่าได้ ซึ่งภายหลังเกิดเหตุการณ์แล้วได้เข้าสู่สภาวะฟื้นฟูสภาพทั้งด้านจิตใจและบ้านเรือน พร้อมๆ กับภาครัฐมีแนวคิดสร้างพิพิธภัณฑ์สึนามิบริเวณพื้นที่บ้านน้ำเค็มเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานรำลึกถึงเหตุการณ์และยังเป็นสถานที่เก็บหลักฐานวัตถุในครั้งนั้น และยังแสดงถึงความร่วมมือของคนไทยและคนทั่วโลกที่เดินทางมาร่วมรำลึกบริเวณสถานที่แห่งนี้ทุกปีอีกด้วย 12 ปี (พ.ศ.2547 – 2559) หลังจากนั้นรัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ได้จัดสรรงบประมาณของปี 2560 จำนวน 64.8 ล้านบาท เพื่อจัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งธรณีพิบัติภัยสึนามิ และต่อมาได้จัดสรรเงินงบประมาณประจำปี 2562 จำนวน 30 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการตกแต่งภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ฯซึ่งรับผิดชอบโครงการโดยวัฒนธรรมจังหวัดพังงา ในส่วนการออกแบบอาคารพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งธรณีพิบัติภัยสึนามิ โดย นายพรธรรม ธรรมวิมล ผู้อำนวยการกลุ่มสถาปัตยกรรม สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร, ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสภา สาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรม สำนักศิลปกรรม กล่าวแนวคิดในการออกแบบอาคารฯ ภาพรวมว่า เพื่อให้เป็นอนุสรณ์สถานและพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง สื่อความหมายถึงเหตุการณ์พิบัติภัยสึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ผ่านวัตถุพยาน “เรือประมงสีส้ม-ฟ้า” ซึ่งถูกคลื่นยักษ์สึนามิซัดมาเกยตื้นในพื้นที่บ้านน้ำเค็ม ส่วนรูปแบบสถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตยกรรม สอดผสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อเน้นความโดดเด่นและสำคัญของเรือทั้ง 2 ลำ โดยมีจุดหมายตาของพิพิธภัณฑ์เป็นหอชมทัศนียภาพ ของบริเวณบ้านน้ำเค็ม ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากเครื่องมือประมงพื้นบ้าน ด้านการจัดแสดงและตกแต่งภายในอาคารพิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม ออกแบบและควบคุมโดย นายวุฒินันท์ จินศิริวานิชย์ นางสาวชาริณี อรรถจินดา และนายภัทร สำราญสุข สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร โดยมีแนวทางในการออกแบบจากข้อมูลในการสัมภาษณ์ประชาชนในพื้นที่ที่ประสบเหตุ ข้อมูลภาพถ่ายตามบ้านเรือนประชาชน และการประชุมคณะทำงานด้านวิชาการและประวัติศาสตร์โดยกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชน (เครดิตภาพ ทีมออกแบบกลุ่มสถาปัตยกรรม และ กฤตพัฒน์ ชื่นตระกูล ) เมื่อการก่อสร้างทั้งหมดแล้วเสร็จ พิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็มนี้ นอกจากความเป็นอนุสรณ์สถานรำลึกถึงเหตุการณ์สึนามิ-พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง แหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับสึนามิแล้ว จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยเป็นศูนย์รวมกิจกรรมเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมชุมชน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพและสร้างรายได้ ให้แก่ประชาชนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงอย่างยั่งยืน ที่สำคัญของชุมชนบ้านน้ำเค็มอีกด้วย