เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ "SpaceX สูญเสียดาวเทียมกว่า 40 ดวง จากพายุสุริยะ ดาวเทียม starlink จาก SpaceX กว่า 40 ดวงที่เพิ่งถูกส่งขึ้นไปในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา จะต้องถูกปลดระวาง และเผาไหม้ไปกับชั้นบรรยากาศ จากผลที่เกิดขึ้นจากการรบกวนจากพายุสุริยะ ดาวเทียม starlink นั้นเป็นเครือข่ายดาวเทียมของบริษัท SpaceX ที่จะส่งกลุ่มดาวเทียม (เรียกว่า constellation) ออกไปโคจรรอบโลกที่วงโคจรต่ำรอบโลก (Low Earth Orbit: LEO) เพื่อสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมที่จะสามารถเข้าถึงได้ทั่วโลกแม้ในพื้นที่ห่างไกล ปัจจุบันมีดาวเทียม starlink นี้โคจรอยู่รอบโลกด้วยกันไม่ต่ำกว่า 1,700 ดวง ก่อนที่จะไปถึงวงโคจร LEO เป้าหมาย ในช่วงแรกของการปล่อยดาวเทียมแต่ละชุดนั้น SpaceX จะนำเอาดาวเทียมไป “จอด” เอาไว้ที่วงโคจรที่มีระยะใกล้โลกที่สุดเพียง 210 กิโลเมตร จากพื้นโลก หากมีเหตุขัดข้องที่ไม่สามารถควบคุมดาวเทียมได้ ดาวเทียมจะยังโคจรผ่านชั้นบรรยากาศที่มีความหนาแน่นเพียงพอที่แรงเสียดสีกับชั้นบรรยากาศจะค่อยๆ ทำให้วงโคจรของดาวเทียมนั้นค่อยๆ ลดระดับลง จนชนเข้ากับพื้นโลกในที่สุด แม้ว่าจะขาดการควบคุมกับดาวเทียมไปโดยสิ้นเชิง เหตุที่ทำเช่นนี้นั้นเพื่อที่จะให้แน่ใจว่าเหตุไม่คาดฝันที่อาจจะเกิดขึ้นกับดาวเทียม จะไม่นำไปสู่ขยะอวกาศที่จะต้องโคจรอยู่ในวงโคจรรอบโลกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะชนเข้ากับดาวเทียมสักดวง ก่อให้เป็นขยะอวกาศเพิ่มเติมไม่จบไม่สิ้น อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ถัดจากวันที่ปล่อยจรวดนั้น เกิดพายุสุริยะ (geomagnetic storm) อย่างไม่คาดฝันเกิดขึ้น ถึงแม้ว่าพายุสุริยะนี้จะค่อนข้างอ่อน และไม่ได้ส่งผลอะไรโดยตรงต่อระบบแผงวงจรการควบคุมดาวเทียม แต่ผลพวงอย่างหนึ่งของพายุสุริยะนี้ก็คือทำให้ชั้นบรรยากาศตอนบนของโลกนั้นอุ่นและขยายตัวขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือความหนาแน่นของอากาศที่เพิ่มมากขึ้นที่ความสูง 210 กิโลเมตร ที่ดาวเทียมโคจรผ่าน ส่งผลให้แรงต้านอากาศที่ดาวเทียมจะต้องพบนั้นเพิ่มขึ้นจากการส่งครั้งก่อนๆ กว่า 50% ในเบื้องต้นนั้น SpaceX ดำเนินการโดยการนำดาวเทียม starlink ทั้งหมดเข้าสู่ “safe mode” โดยการหันดาวเทียมด้านที่ลดแรงต้านอากาศที่สุดไปตามทิศทางการเคลื่อนที่ราวกับแผ่นกระดาษที่ลู่ไปตามลม โดยหวังว่าพายุที่โหมเข้ามานี้จะผ่านไปเร็วที่สุด จากการวิเคราะห์ในภายหลัง ได้เปิดเผยให้เห็นว่าแรงต้านที่เพิ่มขึ้นในช่วงแรกนี้นั้นส่งผลมากกว่าที่คิด และปัจจุบันก็สายเกินไปที่จะสามารถกู้ดาวเทียมทั้งหมดให้ออกมาจาก “safe mode” ได้ และดาวเทียมกว่า 40 ดวงจาก 46 ดวงที่ส่งขึ้นไปนั้นกำลังเข้าสู่ขั้นตอน-หรืออาจจะเข้าสู่ขั้นตอนการหลุดออกจากวงโคจรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นั่นหมายความว่าดาวเทียมทั้งหมดนี้นั้นกำลังจะโหม่งเข้าสู่โลกและเผาไหม้หมดไปในชั้นบรรยากาศในที่สุด โดยที่ยังไม่ได้มีโอกาสได้เปิดทำงานเลย หากพิจารณามูลค่าโดยประมาณของแต่ละดาวเทียมที่มีมูลค่ารวมกว่า 250,000 เหรียญสหรัฐแล้ว ครั้งนี้นับเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งสิ้นกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่กำลังจะกลายเป็นเพียงเปลวเพลิงเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศของโลกเลยทีเดียว ข่าวดีก็คือ การตกลงของดาวเทียมเหล่านี้นั้นไม่ได้สร้างความเสี่ยงใดๆ ให้แก่ดาวเทียมทั้งหมดที่ประจำการอยู่ และเศษดาวเทียมทั้งหมดจะเผาไหม้หมดไปในชั้นบรรยากาศก่อนที่จะตกลงสู่พื้นโลก การสูญเสียนี้จึงถูกจำกัดเอาไว้ และไม่สร้างความเสียหายในวงกว้างได้ เหตุการณ์นี้ นับเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ย้ำเตือนถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในการเดินทางในอวกาศ แม้กระทั่งการส่งจรวด starlink ที่เคยส่งไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 2,000 ดวง แต่ก็ยังเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้นได้เสมอ และบ่งชี้ถึงความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการป้องกันความปลอดภัย ดังเช่นที่ SpaceX ได้วางเอาไว้ เพื่อป้องกันเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ให้ก่อให้เกิดอันตรายต่อดาวเทียมหรือมนุษย์อื่นๆ บนพื้นโลก เรียบเรียง : ดร. มติพล ตั้งมติธรรม นักวิชาการดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ อ้างอิง/อ่านเพิ่มเติม: [1] https://www.spacex.com/updates/ [2] https://www.space.com/solar-geomagnetic-storms-spacex... [3] https://www.thesun.co.uk/.../elon-musk-starlink.../