พระมหากรุณาธิคุณ/เสกสรร สิทธาคม มหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณีกับโครงการสนองพระราชดำริ อนุรักษ์พันธุกรรมพืชในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี(จบ) วันที่12 กันยายนที่ผ่านมาสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.)โดยกลุ่มพัฒนานโยบายด้านการเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ชวนผมไปเยือนมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี(มรภ.รำไพพรรณี)อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรีจัดกิจกรรมโครงการประชุมเพื่อสร้างและขยายผลองค์ความรู้ความเข้าใจในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี(อพ.สธ.) ณ.มรภ.รำไพพรรณีอันเป็นสถาบันการศึกษาอุดมศึกษาอีกแห่งหนึ่งที่ดำเนินโครงการสนองพระมหากรุณาธิคุณน้อมนำแนวพระราชดำริอนุรักษ์พันธุกรรมพืชในรูปแบบ “สวนพฤษศาสตร์มหาวิทยาลัยมาดำเนินการทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยอย่างเป็นระบบที่มีความเข้มแข็งจนกลายเป็นผืนป่าอนุรักษ์ใที่สมบูรณ์นวันนี้ ภายในบริเวณมรภ.รำไพพรรณี มีเนื้อที่หลายแห่งยังเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์และเขียวชอุ่มรวมถึงแหล่งน้ำตลอดปี ทางคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงเห็นควรสนองแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีทำโครงการที่จะอนุรักษ์พันธุ์พืช เหล่านี้ไว้ รวมทั้งทำการศึกษาด้านอนุกรมวิธาน คุณประโยชน์ทางสมุนไพรและอื่นๆ อีกทั้งมีโครงการให้เยาวชนและประชาชนทั่วไป ได้มีโอกาสศึกษาและใช้ประโยชน์จากป่าอนุรักษ์อย่างคุ้มค่า และกว้างขวาง ซึ่งทางคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ติดต่อขอความร่วมมือในการอนุรักษ์พันธุ์พืช เหล่านี้ไปยังโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่ออนุรักษ์ไม้พื้นเมืองของจันทบุรี ภาคตะวันออกและของไทย รวมทั้งอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อให้เยาวชนของชาติและประชาชนทั่วไปได้ใช้ป่าของสถาบันเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ และปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุ์พืชและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมป่าอนุรักษ์บริเวณอาคารวิทยาศาสตร์หลังใหม่ และหรือป่าหลังอาคารสาม ป่าหลังอาคารคณะเกษตรฯ รวมทั้งที่อื่นๆ ที่สถาบันเห็นสมควรจะอนุรักษ์ไว้ได้มีการสร้างเรือนเพาะชำต้นไม้ ขนาด 16 x 8 เมตร ประกอบด้วยห้องทำงานและห้องเก็บของขนาด ห้องละ 4x4 เมตร ส่วนที่เหลือ หลังคาใช้ตาข่ายครอบทำป้ายชื่อพืช พร้อมชื่อวิทยาศาสตร์และประโยชน์บางส่วน อาจารย์ประสาน แสงไพบูลย์และอาจารย์ศศิธร พุทธรักษ์แห่งคณะวิทยาศาสตร์ฯมรภ.รำไพพรรณีในฐานะที่รับผิดชอบโครงการให้ข้อมูลเบื้องต้นก่อนพาท่องป่าอนุรักษ์ว่าได้มีการทำการสำรวจพันธุ์พืชบริเวณป่าอนุรักษ์ด้านทิศตะวันออกของอาคารวิทยาศาสตร์หลังใหม่ พบความหลากหลายทางชีวภาพของพืชที่น่าสนใจ พบมีทั้งพันธุ์ไม้ที่มีเฉพาะในจันทบุรี บางชนิดมีเฉพาะภาคตะวันออก และบางชนิดพบทั้งในจังหวัดจันบุรีและบางจังหวัดใน ภาคเหนือและภาคใต้ นอกจากนี้บางชนิดพบได้ทั่วไปในประเทศไทย “พืชในป่านี้ส่วนมากมีคุณค่าทางสมุนไพร บางชนิดมีจำนวนน้อย ควรแก่การอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพืชที่มีทางจันทบุรีเท่านั้นโอกาสที่จะสูญพันธุ์ไปจากโลกจึงมีมาก ทางคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงเห็นความจำเป็นที่ จะต้องศึกษาและหาแนวทางเพื่ออนุรักษ์พืชเหล่านี้ไว้อย่างยิ่ง จึงได้ดำเนินโครงการนี้และได้ขอความช่วยเหลือทางงบประมาณจากโครงการมูลนิธิประชาธิปก - รำไพพรรณี เพื่อให้การดำเนินงานของ โครงการบรรลุวัตถุประสงค์และบังเกิดผลดีมากที่สุด ทางคณะ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้มีหนังสือถึงประธานกรรมการ อพ.สธ. เพื่อเรียนถามแนวทางในการให้ความร่วมมือเพื่ออนุรักษ์พืชที่สำคัญ และอื่นๆ ในการนี้ ดร.พิศิษฐ์ วรอุไร ประธานโครงการ อพ.สธ. และคณะ ได้กรุณามาเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีถึงสองครั้ง เพื่อชี้แนวทางการให้ความช่วยเหลือและการประสานงานระหว่าง อพ.สธ. และสถาบัน ดังกล่าวทางคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเห็นว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสถาบัน ชุมชน และส่วนรวมเป็นเอนกประการ จึงได้จัดทำโครงการเสนอสถาบันเพื่อพิจารณาอนุมัติ รวมทั้งพิจารณาเป้าหมายของโครงการด้วย”สองอาจารย์ขยายความ ไปจังหวัดจันทบุรีช่วงหน้าฝนแน่นอนที่สุดย่อมไม่อาจหนีเม็ดฝนไปได้ เจอฝนกันตั้งแต่ช่วงเดินทาง พอเข้าเมืองจันท์ฯถึงมรภ.รำไพพรรณีโชคดีฝนหยุดเกือบขาดเม็ด แต่ยังมีโปรยลงมาเป็นละอองน้อยๆ สองอาจารย์พาเดินเข้าป่าอนุรักษ์เป็นเส้นทางสำรวจศึกษาและหาความเพลิดเพลินจากธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพยายามที่จะทำเป็นโซนของไม้เป็นกลุ่มไม้หรือกลุ่มพืช เช่นฐานกระพ้อ มีโอกาสได้สัมผัสไม้ขนาดใหญ่ที่น่าจะเป็นไม้ดั้งเดิมของพื้นที่ผืนป่าอนุรักษ์ภูมิประเทศยังคงสภาพเป็นป่าแบบธรรมชาติมีหมู่ไม้ มีแหล่งน้ำเป็นระยะ นี่คือความสัมพันธ์กันของธรรมชาติป่าเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร แหล่งน้ำสร้างความเจริญงอกงามให้ต้นไม้ให้ป่าและสรรพชีวิตอื่นๆ แม้สิ่งที่แปลกปลอมจะปรากฏอยู่ในป่าบ้างคือเส้นทางเดินแต่ก็ไม่ได้ทำให้ป่าขาดสมดุลยและไม่ได้ทำลายภูมิทัศน์แต่อย่างใด เดินชมป่าแล้วมีโอกาสได้ล่องเรือชมป่าด้วยได้บรรยากาศไปอีกแบบหนึ่ง นั่นคือภาพแห่งทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ที่แฝงไปด้วยคุณประโยชน์มหาศาลกับพื้นที่และประเทศชาติอันเกิดจากการสนองพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีที่ทรงมีพระวิสัยอันกว้างไกลในการปกปักรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ในผืนแผ่นดิน ผืนโลกที่ผลสะท้อนกลับคืนคือประโยชน์แก่มวลสรรพชีวิต ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยซาบซึ้งในพระเมตตาในพระราชหฤทัยห่วงใย พระองค์จึงทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า “เจ้าฟ้านักอนุรักษ์”