สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม วัชรประดิษฐ์ วัดอมรินทรารามวรวิหาร ตั้งอยู่ฝั่งธนบุรี ติดกับโรงพยาบาลศิริราช เป็นวัดเก่าแก่โบราณคู่กับวัดระฆังโฆสิตาราม เดิมมีชื่อ ‘วัดบางหว้าน้อย’ ส่วนวัดระฆังฯ ชื่อว่า ‘วัดบางหว้าใหญ่’ สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดฯ สถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวงทั้งสองวัด ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) โปรดฯ ให้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดบางหว้าน้อย และพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดอมรินทราราม” หลวงพ่อโบสถ์น้อย สำหรับ หลวงพ่อโบสถ์น้อย พระประธานในพระอุโบสถวัดอมรินทรารามนี้ ไม่ปรากฏหลักฐานความเป็นมาแน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างในสมัยใด เดิมเป็นพระพุทธรูปที่หล่อด้วยทองสำริดขนาดไม่ใหญ่นัก สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธา จึงอัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ แต่ด้วยพระอุโบสถมีความกว้างขวางใหญ่โต จึงได้ทำการพอกปูนทับองค์พระไว้อีกชั้นหนึ่ง เป็นพุทธศิลปะแบบสุโขทัย พุทธลักษณะองค์พระประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย เหนืออาสนะฐานบัวชั้นเดียว ลงรักปิดทอง มีขนาดหน้าตักกว้าง 4 ศอก 2 นิ้ว สูง 7 ศอก 12 นิ้ว เพื่อความเหมาะสมกับศาสนสถานที่ประดิษฐาน วัดอมรินทราราม ในปี พ.ศ.2441 สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โปรดฯ ให้ตัดเส้นทางรถไฟสายใต้ โดยเริ่มจากปากคลองบางกอกน้อยไปทาง จ.นครปฐม ซึ่งส่งผลให้พื้นที่ด้านหน้าวัดอมรินทรารามตรงปากคลองบางกอกน้อยถูกตัดตอนเป็นทางรถไฟ วางรางรถไฟเฉียดผ่านพระอุโบสถของวัด จนต้องรื้อด้านหน้าของพระอุโบสถออกไป ทำให้พระอุโบสถมีขนาดเล็กลง ชาวบ้านจึงเรียกว่า “โบสถ์น้อย” และขนานนามพระประธานว่า “หลวงพ่อโบสถ์น้อย” ความมหัศจรรย์และความศักดิ์สิทธิ์ของ ‘หลวงพ่อโบสถ์น้อย’ ยังคงเป็นที่เล่าขานกันมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ เมื่อครั้งที่นายช่างฝรั่งมาส่องกล้องเพื่อดำเนินการตัดทางสำหรับวางรางรถไฟนั้น พบว่าเส้นทางนั้นจะต้องถูกพระอุโบสถและองค์พระพุทธรูปพอดี ซึ่งก็ได้เกิดเหตุการณ์อาเพศต่างๆ จนนายช่างฝรั่งไม่สามารถที่จะทำการตัดเส้นทางให้เป็นแนวตรงได้ จำเป็นต้องเปลี่ยนเส้นทางใหม่เป็นแนวอ้อมโค้งดังปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา (พ.ศ.2484-2488) เครื่องบินข้าศึกเข้ามาทิ้งระเบิดเพลิงตามจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ รวมถึง สถานีรถไฟธนบุรี ที่บางกอกน้อย ทำให้วัดอมรินทรารามซึ่งอยู่ติดกันได้รับความเสียหายอย่างหนัก แม้แต่พระอุโบสถซึ่งเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อโบสถ์น้อยก็ได้รับความเสียหายด้วย แต่ก็ได้สร้างความอัศจรรย์ให้ปรากฏ ดังข้อความตอนหนึ่งจากหนังสือประวัติวัดอมรินทรารามว่า "แม้แต่ตัวโบสถ์น้อยของท่าน ซึ่งอยู่ริมทางรถไฟธนบุรีก็ได้รับภัยในครั้งนี้ด้วย หลุมระเบิดตกอยู่รอบๆ โบสถ์ของท่าน และที่เชิงเขาของโบสถ์น้อยไฟก็ไหม้เหมือนกัน แต่ก็ดับได้เองเหมือนปาฏิหาริย์ เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก" เหรียญหลวงพ่อโบสถ์น้อย ปี 2488 เมื่อสงครามยุติลงในปี พ.ศ.2488 จากความรุนแรงของระเบิดเป็นผลให้ พระเศียรของหลวงพ่อโบสถ์น้อยที่ปั้นด้วยปูนถึงกับหักพังลงมา ทางวัดจึงได้นำไปฝากไว้ยังวัดอรุณราชวรารามเป็นการชั่วคราว จากนั้นได้เริ่มดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ปูชนียวัตถุสถานต่างๆ เมื่ออัญเชิญพระเศียรของหลวงพ่อโบสถ์น้อยกลับมาเพื่อหวังที่จะต่อเข้ากับองค์พระพุทธรูป แต่พิจารณาแล้วเห็นว่าพระเศียรของหลวงพ่อแตกร้าวเป็นส่วนใหญ่ จึงลงความเห็นที่จะปั้นพระเศียรของหลวงพ่อขึ้นใหม่โดยให้คงเค้าพระพักตร์เดิมไว้ พร้อมทำพิธีต่อเศียรเป็นที่เรียบร้อยในปี พ.ศ.2488 นั้นเอง ซึ่งในการนี้ ทางวัดได้จัดสร้างวัตถุมงคลหลวงพ่อโบสถ์น้อย ประกอบด้วย เหรียญ, พระเนื้อดิน และ พระเนื้อผง โดย ‘เหรียญและพระเนื้อดิน’ แจกจ่ายเป็นที่ระลึกแก่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์สมทบทุนบูรณปฏิสังขรณ์ ส่วน ‘พระเนื้อผง’ สร้างแบบสามเหลี่ยมและสี่เหลี่ยม สำหรับแจกเฉพาะคณะกรรมการ จึงมีจำนวนการสร้างไม่มากนัก เหรียญหลวงพ่อโบสถ์น้อย ปี พ.ศ.2488 ถือเป็นเหรียญปั๊มรุ่นแรกของวัด ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ หูเชื่อม ยกขอบแบบเส้นลวดแบนทั้งหน้าและหลัง ด้านหน้า ตรงกลางเป็นรูปจำลองหลวงพ่อโบสถ์น้อย ประทับนั่งเหนืออาสนะฐานหน้ากระดาน 5 ชั้น ห่มจีวรริ้วแบบพาดสังฆาฏิ พระพักตร์ปรากฏรายละเอียดต่างๆ คมชัด ทั้ง พระเนตร พระนาสิก และพระโอษฐ์ พระรัศมีเป็นแบบเปลวงเพลิง มีอักขระขอมโดยรอบ คั่นกลางด้วยวงกลมซ้อนกัน 2 วง ด้านบนอ่านว่า “สัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ” ซึ่งเป็น ‘หัวใจพระอภิธรรม’ ด้านล่างอ่านว่า “อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ” อันเป็น ‘หัวใจนวหรคุณ’ ด้านหลัง ตรงกลางเป็น “ยันต์เฑาะว์สมาธิ” โดยรอบมีอักษรไทยแบ่งครึ่งด้วยวงกลมเช่นกัน ด้านบนจารึกนาม “หลวงพ่อโบสถ์น้อย” ด้านล่างเป็นชื่อวัด “วัดอมรินทราราม (บางว้า)” เหรียญหลวงพ่อโบสถ์น้อย ปี 2488 ส่วน พระเนื้อผงหลวงพ่อโบสถ์น้อย ปี พ.ศ.2488 ก็เป็นรุ่นแรกเช่นกัน เนื้อหามวลสารประกอบด้วยดินศักดิ์สิทธิ์ผสมกับมวลสารมงคล อาทิ เม็ดพระศกเก่าๆ ของหลวงพ่อโบสถ์น้อยที่หลุดร่วงลงมา และดอกไม้แห้งต่างๆ จากดอกไม้ที่สาธุชนนำมาสักการะหลวงพ่อโบสถ์น้อย ซึ่งทางวัดได้เก็บรักษาไว้ ด้านหน้า จำลององค์หลวงพ่อโบสถ์น้อย ประทับนั่งเหนืออาสนะฐานหน้ากระดานบัวชั้นเดียว ภายในซุ้มเรือนแก้ว (ข้างหยัก) รูปสามเหลี่ยม ด้านหลัง ประทับตรารูปโบสถ์น้อย ประการสำคัญ คือ วัตถุมงคลทั้งหมดได้รับการปลุกเสกโดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดังในยุคนั้นทั้งสิ้น มีอาทิ หลวงพ่อจาด วัดบางกะเบา, หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก, หลวงพ่อโชติ วัดตะโน, หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก, หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง และ หลวงพ่อเส่ง วัดน้อยนางหงส์ เป็นต้น พระเนื้อดินหลวงพ่อโบสถ์น้อย ปี 2488 จึงนับได้ว่า วัตถุมงคลหลวงพ่อโบสถ์น้อย วัดอมรินทรารามวรวิหาร ปี 2488 นี้ ทรงพุทธคุณเป็นเลิศ ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระประธาน รวมถึงพิธีปลุกเสก อีกทั้งยังเป็นการจัดสร้างรุ่นแรกของวัด และยังได้สร้างประสบการณ์แก่ผู้บูชามากมายเป็นที่กล่าวขาน จึงได้รับความนิยมสะสมกันอย่างกว้างขวางในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องและเหรียญคณาจารย์ โดยเฉพาะ “เหรียญรุ่นแรก” นั้น ได้รับการยกย่องให้เป็นเหรียญพระพุทธยอดนิยมองค์หนึ่งของเมืองไทย ที่ปัจจุบันหาดูได้ยากยิ่งครับผม