ข้อมูลล่าสุดพบการคำนวณผิดพลาด ไม่ใช่ชิ้นส่วนของ "จรวด Falcon 9" ของ SpaceX แต่เป็นชิ้นส่วนจากจรวดฉางเอ๋อของจีนแทน เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ "จากการคาดการณ์เดิมที่ว่าชิ้นส่วนของ "จรวด Falcon 9" ของ SpaceX จะพุ่งเข้าชนกับด้านไกลของดวงจันทร์ในวันที่ 4 มีนาคม 2565 นี้ ข้อมูลล่าสุดได้เผยให้เห็นว่าแท้จริงแล้วชิ้นส่วนดังกล่าวน่าจะเป็นของ "จรวด 2014-065B" จากภารกิจฉางเอ๋อ 5-T1 ของจีน ส่วนรายละเอียดในการชนนั้นยังไม่เปลี่ยนแปลง ข้อมูลล่าสุดจาก Bill Gray ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ดาราศาสตร์และเจ้าของเว็บไซท์ projectpluto.com ผู้ซึ่งคำนวณวงโคจรของวัตถุที่จะพุ่งเข้าชนด้านไกลของดวงจันทร์ในวันที่ 4 มีนาคม 2565 ได้รายงานว่า เขาได้ค้นพบข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นก่อนหน้าที่ทำให้การระบุตัวตนของขยะอวกาศชิ้นนี้ผิดพลาดไป แต่เดิมเข้าใจว่าเป็น 2015-007B หรือชิ้นส่วนจรวดชั้นที่สองของ Falcon 9 ของบริษัท SpaceX ที่นำภารกิจ DSCOVR ไปยังจุด L1 ระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ จนกระทั่งข้อมูลล่าสุดได้เผยว่าวัตถุดังกล่าวไม่น่าจะเป็นจรวดของ SpaceX อีกต่อไป แต่อาจจะเป็นส่วนของจรวดของจีนในภารกิจฉางเอ๋อเสียมากกว่า เพราะเหตุใดจึงเกิดข้อผิดพลาดเช่นนี้ขึ้น? แท้จริงแล้วข้อผิดพลาดเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่แปลกประหลาดแต่อย่างใด อันดับแรกเราต้องเข้าใจก่อนว่า การติดตามขยะอวกาศนั้นยังเป็นสาขาที่ยังต้องพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะขยะอวกาศที่อยู่ห่างไกลออกไปจากโลก มีอัตราการเกิดอันตรายต่อดาวเทียมได้น้อย และไม่สามารถสังเกตได้จากเรดาร์ทั่วๆ ไปในการสำรวจ จึงไม่แปลกอะไรที่ชิ้นส่วนจรวดหลายๆ ชิ้นที่อยู่เลยวงโคจรใกล้โลกออกไปนั้นจะไม่ได้รับความสนใจและขาดการติดตามไปโดยสิ้นเชิง ทั้ง SpaceX หรือ JPL เองก็ดีต่างก็ไม่ได้รับผิดชอบการติดตามวัตถุทุกชิ้นที่ส่งขึ้นไปในอวกาศโดยตรง การค้นพบขยะอวกาศชิ้นนี้นั้น แท้จริงแล้วเป็นผลพลอยได้ที่มาจาก Catalina Sky Survey ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก เมื่อค้นพบวัตถุนี้ครั้งแรกในวันที่ 14 มีนาคม 2014 ก็ได้มีรายงานการค้นพบออกไปเพื่อให้นักดาราศาสตร์ทั่วโลกมาร่วมยืนยันการค้นพบได้ ต่อมานักดาราศาสตร์จากบราซิลได้ยืนยันว่าวัตถุนี้นั้นแท้จริงแล้วมีวงโคจรอยู่รอบโลก บ่งชี้ว่าน่าจะเป็นวัตถุที่มนุษย์สร้าง เนื่องจากตำแหน่งที่ค้นพบวัตถุนี้อยู่เลยออกไปจากวงโคจรของดวงจันทร์เป็นเวลาเพียงสองเดือนภายหลังจากที่ภารกิจ DSCOVR ส่งยานสำรวจออกไปเลยจากวงโคจรดวงจันทร์ บวกกับความสว่างและวงโคจรที่สอดคล้องได้กับภารกิจของ DSCOVR จึงทำให้ผู้ที่ติดตามหลายๆ คนลงความเห็นกันว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นชิ้นส่วนจรวดขั้นที่สองของ Falcon 9 จากภารกิจ DSCOVR อย่างไรก็ตาม ในการจะระบุตัวตนของขยะอวกาศที่ไม่ได้มีการติดตามแต่แรกให้แน่ชัดนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ และในหลายๆ ครั้งก็ต้องอาศัยการประติดประต่อเรื่องราวไม่ต่างกับการสืบสวน บวกกับที่ปัจจุบันนี้ยังไม่ได้มีหน่วยงานกลางที่ทุกประเทศจะต้องรายงานทิศทางความเร็วสุดท้ายของจรวดที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ซึ่งในกรณีนี้ ภายหลังจากที่ค้นพบว่าวัตถุนี้จะพุ่งเข้าชนกับด้านไกลของดวงจันทร์แล้ว Jon Giorgini ได้ติดต่อกับ Bill Gray ว่ารายละเอียดที่บอกว่าวัตถุนี้นั้นเฉียดเข้าใกล้ดวงจันทร์สองวันหลังจากปล่อยจากฐานนั้นไม่ได้สอดคล้องกับรายละเอียดของภารกิจ DSCOVR แม้ว่าจะมีความเป็นไปได้ที่ชิ้นส่วนจรวดที่ถูกดีดออกมาแล้วนั้นจะมีการเปลี่ยนวงโคจรเนื่องจากการปล่อยเชื้อเพลิงที่เหลือค้างอยู่ แต่การเบี่ยงวงโคจรที่จะให้เกิดกรณีนี้นั้นก็จะต้องเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้ยากพอสมควร ซึ่งหากวัตถุนี้ไม่ได้มาจากภารกิจ DSCOVR แล้วนั้น มันจะมาจากวัตถุใดได้อีก? ปัจจุบันเรามีภารกิจที่นำจรวดหรือดาวเทียมไปไกลถึงวงโคจรของดวงจันทร์เพียงไม่กี่วัตถุ และด้วยความสว่างของมันจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะหลุดรอดจากการสังเกตมาตลอด จึงบ่งชี้ว่าวัตถุนี้น่าจะถูกส่งไปก่อนหน้าเดือนมีนาคมปี 2015 เพียงไม่นาน ซึ่งภารกิจที่เป็นไปได้อีกภารกิจหนึ่งก่อนหน้านั้นก็คือภารกิจฉางเอ๋อของประเทศจีน (ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ยังไม่เคยมีการสังเกตเห็นชิ้นส่วนจรวดมาก่อน) การวิเคราะห์วงโคจรย้อนหลังพบว่าวงโคจรของวัตถุนี้สอดคล้องกับวงโคจรของภารกิจฉางเอ๋อเป็นอย่างมาก บวกกับการวิเคราะห์สเปกตรัมโดย University of Arizona ได้ยืนยันว่าวัตถุนี้มีองค์ประกอบที่สอดคล้องกับวัตถุที่มาจากชิ้นส่วนจรวดของจีน หลักฐานเหล่านี้จึงบ่งชี้ไปในทางเดียวกันว่าวัตถุนี้น่าจะเป็นชิ้นส่วนจรวดจากภารกิจฉางเอ๋อของจีน อย่างไรก็ตาม การระบุตัวตนใหม่ของจรวดนี้ไม่ได้ส่งผลอย่างไรต่อการคำนวณวงโคจรที่มีมาแล้วก่อนหน้านี้ ชิ้นส่วนจรวดจะยังคงพุ่งชนเข้ากับพื้นผิวด้านไกลของดวงจันทร์ในวันที่ 4 มีนาคมที่จะถึงนี้ ไม่มีเปลี่ยนแปลง และการชนกันนี้ก็เป็นเรื่องปกติ ไม่ส่งผลอันตรายใดๆ ทั้งสิ้นต่อผู้คนบนโลก และตำแหน่งการชนที่ด้านไกลของดวงจันทร์นั้น หมายความว่าปรากฏการณ์นี้จะไม่สามารถสังเกตเห็นได้จากบนโลก เหตุการณ์นี้เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่ง ที่เตือนเราให้ตระหนักถึงความสำคัญของการติดตามขยะอวกาศที่ถูกส่งขึ้นไป แม้ว่าในปัจจุบันยังมีวัตถุที่ถูกส่งออกไปยังวงโคจรที่ไกลออกไปจากโลกน้อยมาก และมีอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อดาวเทียมที่มีอยู่ปัจจุบันในอัตราที่ต่ำเป็นอย่างมาก แต่ในอนาคตอันใกล้เมื่อมีวัตถุที่ถูกส่งออกไปเป็นจำนวนมากขึ้น เมื่อการสำรวจอวกาศไกล ไปจนถึงดวงจันทร์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำมากยิ่งขึ้น ทุกการส่งขึ้นไปย่อมหมายถึงชิ้นส่วนจรวดที่จะถูกปล่อยทิ้งเอาไว้ในอวกาศที่จะเพิ่มอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่เพียงแต่นี่จะย้ำเตือนให้เห็นถึงความจำเป็นของการพัฒนาเทคโนโลยีในการติดตามขยะอวกาศที่ไกลอยู่โลกออกไปแล้ว ยังได้เตือนเราถึงความจำเป็นที่จะต้องมีข้อตกลงและมาตรการนานาชาติต่อการจัดการ การรายงาน และติดตามชิ้นส่วนที่มนุษย์สร้างที่ถูกส่งออกไปในห้วงอวกาศลึกในอนาคตอันใกล้ที่จะถึงนี้ อ้างอิง/อ่านเพิ่มเติม: [1] https://www.facebook.com/NARITpage/posts/306834544820428 [2] https://www.projectpluto.com/temp/correct.htm [3] https://news.arizona.edu/.../uarizona-students-confirm..."