หลังพยายามครั้งแรกปี 62 พุ่งชนดวงจันทร์ก่อนลงจอด ต้องกลับไปวางแผนแก้ไขใหม่บวกกับสถานการณ์โควิดต้องชะงัก ขณะประวัติศาสตร์วงการอวกาศ ยังไม่มีชาติใดสำเร็จได้ในรอบแรก เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ "ล้มแล้วต้องลุกใหม่ #จันทรยาน 3 กับความพยายามลงจอดบนดวงจันทร์อีกครั้งของประเทศอินเดีย อินเดียมีแผนโครงการจันทรยาน 3 (Chandrayaan 3) ซึ่งเป็นความพยายามส่งยานไปลงจอดบนดวงจันทร์เป็นครั้งที่ 2 และกำหนดช่วงเวลาปล่อยยานขึ้นสู่อวกาศในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2565 ในปี พ.ศ.2562 อินเดียพยายามที่จะส่งยานลงจอดบนดวงจันทร์ครั้งแรก นั่นคือ ยานวิกรม (Vikram) ของภารกิจจันทรยาน 2 (Chandrayaan 2) แต่ในช่วงท้ายของการลงจอดเกิดพุ่งชนดวงจันทร์ ทำให้ยานเสียหายและไม่สามารถปฏิบัติภารกิจใดๆ ได้ ขณะที่ยานโคจรรอบดวงจันทร์ในภารกิจนี้ยังคงสำรวจดวงจันทร์อยู่จนถึงปัจจุบัน ซึ่งหลังจากที่ยานวิกรมพุ่งชนดวงจันทร์ไม่นาน องค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO) ได้ประกาศว่าจะส่งยานลำใหม่เพื่อพยายามลงจอดบนดวงจันทร์อีกครั้งในเวลาอีกไม่นานหลังจากนี้ แต่ในเวลาต่อมากลับเกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ไปทั่วโลก ทำให้ภารกิจอวกาศต่างๆ ล้วนหยุดชะงัก และรบกวนกำหนดการส่งจรวดรอบต่างๆ ของทางอินเดียที่วางแผนไว้ จนล่าสุด ทาง ISRO พร้อมที่จะกำหนดวันปล่อยจรวดเพื่อส่งยานลงจอดบนดวงจันทร์อีกครั้ง โดยกำหนดไว้ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2565 หรือเป็นเวลา 3 ปีหลังจากการพยายามลงจอดในครั้งแรก รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีอินเดีย ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บริหารกรมอวกาศของรัฐบาลอินเดียกล่าวกับทางสื่อมวลชน Times of India ว่าทางอินเดียต้องมีความรอบคอบมากกว่าเดิมในการส่งยานลงจอดบนดวงจันทร์ครั้งนี้ ซึ่งจากประวัติศาสตร์วงการอวกาศแล้ว แทบไม่มีประเทศใดที่สามารถส่งยานลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จในความพยายามครั้งแรกเลย ความระมัดระวังของทาง ISRO กับยานลงจอดบนดวงจันทร์ลำใหม่นี้ เห็นได้จากการออกแบบยานที่เปลี่ยนแปลงไปบางส่วน เพื่อลดความเสี่ยงต่อความล้มเหลวในการลงจอด เช่น ยานในภารกิจจันทรยาน 3 จะมีเพียงยานลงจอดเพียงลำเดียว ต่างจากภารกิจจันทรยาน 2 ที่มียาน 2 ส่วน คือ ยานลงจอดกับยานโคจรรอบดวงจันทร์ ทางสื่อ Times of India รายงานว่าการตัดส่วนยานโคจรรอบดวงจันทร์ออกไปจากภารกิจจันทรยาน 3 เพื่อให้ภารกิจนี้มุ่งเน้นที่ยานลงจอดเพียงอย่างเดียว และยานโคจรรอบดวงจันทร์จากภารกิจจันทรยาน 2 ที่ปฏิบัติงานอยู่แล้ว จะทำหน้าที่ตรวจสอบการลงจอดของยานรุ่นใหม่ลำนี้ และเป็นตัวกลางถ่ายทอดสัญญาณระหว่างยานลงจอดกับสถานีควบคุมภาคพื้นโลก นอกจากนี้ ความแตกต่างระหว่างยานลงจอดรุ่นใหม่ในภารกิจจันทรยาน 3 กับยานลงจอดรุ่นก่อนหน้า (ยานวิกรม) ได้แก่ - ลดจำนวนเครื่องยนต์จรวด จาก 5 ตัวเหลือ 4 ตัว - ปรับขาสำหรับลงจอดของยานให้แตกต่างออกไปจากแบบเดิมเล็กน้อย - มีอุปกรณ์ใช้ตรวจวัดอัตราเร็วของยานระหว่างลงจอดที่แม่นยำขึ้น ยานในภารกิจจันทรยาน 3 จะส่งขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวดรุ่น GSLV Mark III (ปกติแล้ว จรวดรุ่นนี้มักใช้ส่งดาวเทียมค้างฟ้า) จากศูนย์อวกาศสติศ ธวัน (Satish Dhawan Space Center) บริเวณชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย อย่างไรก็ตาม ทาง ISRO ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดกำหนดการของภารกิจหลังการปล่อยยาน ซึ่งจากภารกิจจันทรยาน 2 ก่อนหน้านี้ ยานเข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์ภายใน 30 วันหลังปล่อยจรวด และยานร่อนลงจอดสู่พื้นผิวดวงจันทร์ในช่วง 48 วันหลังปล่อยจรวด ทาง ISRO ยังตั้งเป้าหมายให้ยานลงจอดในภารกิจจันทรยาน 3 ลงจอดบนพื้นผิวบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ บริเวณเดียวกับที่ยานวิกรมพยายามลงจอดในปี พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นบริเวณที่อุดมไปด้วยน้ำแข็งและยังไม่เคยมียานลงจอดสำรวจมาก่อน หากยานรุ่นใหม่ลำนี้สามารถลงจอดสำเร็จ อินเดียจะกลายเป็นประเทศที่ 4 ที่สามารถส่งยานลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จ ถัดจากสหรัฐฯ รัสเซีย (เมื่อครั้งเป็นอดีตสหภาพโซเวียต) และจีน เรียบเรียง : พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร. อ้างอิง : https://www.space.com/india-chandrayaan-3-moon-mission..."