สนช.เร่งโค้งสุดท้ายแจงคำถามพ่วง ระดมผู้นำเครือข่ายทั่วประเทศร่วมฟัง ด้าน “สุรชัย” หวัง ประเทศพ้นปัญหา หากได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณื ชี้ แม่น้ำ 5 สายผสมแนวคิดมวลชนสองกลุ่มสานงานปฏิรูป ขณะที่ “เลขาฯกรธ.” ยัน กระบวนการร่างไม่ตัดขาดความเห็นปชช. ระบุ เอารธน.เก่ามาใช้ไม่ได้ เพราะมีปัญหาเหมือนกัน “กล้านรงค” ย้ำ 3 คีเวิร์ดคำถามพ่วง ขอปชช.ลงประชามติด้วยความเข้าใจ เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 27 ก.ค.59 ที่ห้องคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดโครงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์คำถามเพิ่มเติมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แก่เครือข่ายผู้นำนักประชาธิปไตยจากทั่วประเทศ โดย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 กล่าวเปิดงานว่า วันที่ 7 ส.ค.นี้ ประชาชนจะเป็นผู้กำหนดอนาคตประเทศว่าจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร เครือข่ายผู้นำนักประชาธิปไตยจะช่วยนำข้อมูลไปเผยแพร่ ให้ประชาชนได้ตัดสินบนความรู้ ความเข้าใจ ที่ถูกต้อง และตระหนักว่าทุกคนต้องช่วยกันไปออกเสียงประชามติ จากนั้น ได้ปาฐกถา เรื่อง “สถานการณ์การเมืองปัจจุบันและอนาคตการเมืองไทย” ตอนหนึ่งว่า เรากำลังอยู่ในระยะจัดทำรัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่ เป้าหมายคือการเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นในปี 2560 นอกเหนือจากการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแล้วยังมีประเด็นคำถามพ่วง ซึ่งการออกเสียงประชามติวันที่ 7 ส.ค. ประชาชนจะต้องตัดสินใจสองเรื่องพร้อมกัน อย่างไรก็ตาม โจทย์ใหญ่วันนี้คือทำอย่างไรหลังการเลือกตั้ง ประเทศไทยจะมีประชาธิปไตยที่แท้จริง พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งบริหารประเทศได้สงบราบรื่น ยอมรับกฎกติการัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และทำอย่างไรเราจะได้รัฐบาลที่ทำงานภายใต้หลักนิติธรรม ทั้งนี้ ประชาธิปไตยที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ ผู้ที่อาสาเข้ามาทำงานให้บ้านเมือง ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ต้องคำนึงว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ต้องใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ประชาชน ที่สำคัญต้องเคารพหลักนิติธรรม ตนเชื่อมั่นว่าถ้าประเทศเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้เราจะก้าวผ่านปัญหาต่างๆได้ นายสุรชัย กล่าวต่อว่า ลำพังเพียงการเลือกตั้ง และประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แต่หากละเลยการปฏิรูปคงไม่นำพาประเทศไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ เป็นที่มาของหมวด 16 ว่าด้วยการปฏิรูปในร่างรัฐธรรมนูญ เพราะมีปัญหาสะสมมานาน ก่อนวันที่ 22 พ.ค.2557 ประชาชนสองกลุ่มออกมาชุมนุม กลุ่มหนึ่งเรียกร้องให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง อีกกลุ่มให้เลือกตั้งก่อนปฏิรูป สรุปคือทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่าต้องปฏิรูปประเทศ แม่น้ำ 5 สาย จึงเอาความคิดประชาชนทั้งสองกลุ่มมาผสมผสานกัน ปัญหาหลายเรื่องต้องใช้เวลาในการปฏิรูปหลายปี เป็นที่มาว่าอะไรปฏิรูปได้ทำไปก่อนควบคู่กับการจัดการเลือกตั้ง เพื่อตอบโจทย์พี่น้องที่เห็นว่าต้องมีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง จากนั้น นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขานุการกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คนที่ 1 ชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ว่า กรธ.เปิดรับฟังความคิดเห็นทุกช่องทาง เพื่อนำมาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ได้ตัดขาดความเห็นจากประชาชน และร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องการเมือง แต่คำนึงถึงอนาคตประเทศด้วยว่าจะเป็นอย่างไร ส่วนที่บอกให้เอาของเก่ามาใช้ก็คงไม่ได้ เพราะของเก่าก็มีปัญหาจะเอามาใช้ได้อย่างไร เราพยายามทำให้เรื่องการเมืองจบด้วยการเมือง ไม่นำพาผู้คนลงมาในท้องถนนอีก ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่แค่ปะผุทางการเมือง แต่ได้วางแนวทางอนาคตของประเทศไว้ด้วย ทั้งหมดอยู่ที่การตัดสินใจของประชาชนในวันที่ 7 ส.ค.ว่าจะเป็นอย่างไร นายกล้านรงค์ จันทิก ประธานกรรมาธิการการเมือง สนช. ชี้แจงสาระสำคัญคำถามเพิ่มเติม ว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นฉบับแรกที่ให้มีคำถามพ่วงประชามติ ซึ่งมีประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น คือ 1.การปฏิรูปประเทศกับยุทธศาสตร์ชาติ 2.ระยะเวลา 5 ปี และ3.รัฐสภาให้ความเห็นชอบ เพราะร่างรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญเรื่องการปฏิรูปประเทศ แต่ระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายใช้บังคับ ให้หน่วยงานของรัฐใช้อำนาจหน้าที่ดำเนินการปฏิรูปไปก่อน ส่วนที่ต้องกำหนดไว้ 5 ปี ก็เป็นไปตามวาระของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งมีหน้าที่ติดตามเร่งรัดการปฏิรูป และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งนี้ ถ้าประชาชนเห็นชอบทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ผลคือกรธ.จะต้องไปแก้ไขบทเฉพาะกาลให้เป็นไปตามคำถามพ่วง แต่หากเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแต่ไม่เห็นด้วยกับคำถามพ่วง คำถามพ่วงก็จะตกไป หากไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ แต่เห็นชอบคำถามพ่วง ร่างรัฐธรรมนูญก็ตกไปแล้วร่างใหม่ โดยมีนัยยะสำคัญว่าการร่างต้องพิจารณาคำถามพ่วงไว้ในร่างใหม่ ถ้าไม่เห็นชอบทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงก็ตกไปทั้งฉบับ ดังนั้น วันที่ 7 ส.ค.จึงเป็นวันสำคัญที่สุดที่ประชาชนจะใช้อำนาจและสิทธิของตัวเอง ตนจึงขอให้มาช่วยกันลงประชามติบนพื้นฐานความเข้าใจด้วยตัวเอง ไม่มีการชี้นำ ชักชวน บังคับ