เตรียมความพร้อมก่อนเกษียณอย่างมีสุข สวัสดีครับช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่ข้าราชการเกษียณอายุราชการพอดี สัปดาห์นี้ผมจึงขอพูดถึงการเตรียมชีวิตหลังการเกษียณอย่างมีความสุข ผมมองว่าความร่ำรวย มั่งคั่ง และมั่นคง เป็นสิ่งที่ทุกท่านสามารถมองหาและพยายามสร้างขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นการวางแผนออมเงินไว้ใช้หลังเกษียณนั้นจะต้องมีการวางแผนที่ดีเช่นกัน เพราะชีวิตหลังเกษียณยังคงมีการใช้เงินที่มีจำนวนมากพอสมควรทีเดียว ถึงจะใช้ชีวิตในช่วงเกษียณอย่างมีความสุขได้ การเตรียมตัวเพื่อการเกษียณนั้น ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไปจัดว่าเป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นที่จะต้องวางแผนทางการเงินมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงอายุอื่นๆ เนื่องจากมีเวลาที่จะลงทุนให้เงินงอกเงยน้อยลง และไม่สามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงมากได้ หลายๆ ท่าน อาจยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นวางแผนเกษียณอย่างไร หรือต้องมีเงินเก็บออมเท่าไหร่ เพราะในแต่ละช่วงอายุก็มีภาระค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน มีวิถีการดำเนินชีวิตที่ต่างกัน เป้าหมายต่างกัน ดังนั้นในฉบับนี้ ผมจะขอนำเสนอแนวทางในการเตรียมตัววางแผนเกษียณ ว่าควรต้องมีการเตรียมเก็บออมและวางแผนการเงินอย่างไรบ้าง เพื่อเป็นแนวทางสร้างความมั่นคงในชีวิตบั้นปลาย การวางแผนการออมด้วยการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อให้มีผลตอบแทนที่ดีพร้อมกับระดับความเสี่ยงที่ท่านสามารถรับได้ เพื่อทำให้แผนเกษียณบรรลุเป้าหมายเร็วขึ้น เราจึงควรมีความเข้าใจว่าการลงทุนแต่ละประเภทนั้น มีความเสี่ยงอยู่มากน้อยแค่ไหน สามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด เพื่อที่จะได้ลดความเสี่ยงในการลงทุนต่างๆ และสามารถวางแผนเกษียณล่วงหน้าได้อย่างรอบคอบ ซึ่งผมขอยกตัวอย่างสินทรัพย์หลักๆ 5ประเภท ดังนี้ 1.เงินสด ถือเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด โดยเป็นการฝากประเภทออมทรัพย์หรือฝากประจำที่ธนาคาร แต่ต้องยอมรับนะครับว่าอัตราผลตอบแทนนั้นก็จะน้อยตาม โดยหลักการการฝากเงินในธนาคารนั้นเราอาจยังไม่ได้ใช้เงินให้ทำงานอย่างเต็มที่ ผมจึงอยากให้มองว่าฝากเงินในธนาคารเพื่อเป็นบัญชีเงินสดในรูปแบบบัญชีเงินฉุกเฉิน เพื่อสะดวกง่ายต่อการนำออกมาใช้ในยามฉุกเฉิน 2. ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ให้ผลตอบแทนคงที่(เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ เป็นต้น ) กลุ่มนี้มีความเสี่ยงถัดจากเงินสด ซึ่งอัตราดอกเบี้ยจะถูกกำหนดจากมูลค่าของตลาดตราสารหนี้ ซึ่งมูลค่าสามารถมีการปรับขึ้นลงได้ ระดับความเสี่ยงจึงขึ้นอยู่กับว่าได้ลงทุนในประเภทใด เช่น หุ้นกู้เอกชน มีความเสี่ยงมากกว่า พันธบัตรรัฐบาล ฉะนั้นท่านจึงควรศึกษา หาข้อมูลก่อนที่จะลงทุน เพื่อสามารถควบคุมความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุนในประเภทนี้ เช่น การดูสถานะทางการเงินของบริษัทที่จะลงทุน เพราะความเสี่ยงของหุ้นกู้ขึ้นอยู่กับสถานะทางการเงินของแต่ละบริษัท 3.ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือ บำนาญ เป็นสินทรัพย์ที่ถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ และยังให้ความคุ้มครองชีวิตด้วย ซึ่งในปัจจุบันมีทั้ง 1) ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ที่ถือว่าเป็นการออมเงิน และได้รับความคุ้มครองด้วย เมื่อครบอายุกรมธรรม์ จะได้เงินก้อนคืนโดยมีผลตอบแทนระหว่างทางหรือเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของกรมธรรม์หรือ 2)ประกันชีวิตแบบบำนาญ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่สามารถกำหนดรายได้ที่แน่นอนในอนาคตเมื่อยามเกษียณได้ ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์หลากหลายมากในตลาด ทั้งในแบบอัตราผลตอบแทนคงที่ทุกปี หรือในแบบอัตราผลตอบแทนเฉลี่ย มีทั้งระยะสั้น จนถึงระยะยาว หรือสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ด้วย ซึ่งท่านสามารถเลือกได้ตามความต้องการและตามความเหมาะสม นอกจากเรื่องของผลตอบแทน และผลประโยชน์ในเรื่องของภาษีแล้ว ประกันชีวิตแบบต่างๆ ยังมาพร้อมกับเรื่องของความคุ้มครองในกรณีเสียชีวิต ทุพพลภาพ และการสูญเสียรายได้อันเนื่องมาจากการไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งถือได้ว่าประกันชีวิตแบบต่างๆ เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สำคัญอย่างมากและได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายสำหรับการวางแผนทางการเงินเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ได้ทุกรูปแบบ 4. อสังหาริมทรัพย์ คือ การลงทุนในบ้าน ที่อยู่อาศัย ที่ดิน อาคารพาณิชย์ เป็นต้น ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงสูงถัดจากประกันสะสมทรัพย์ เนื่องจากมูลค่าสินทรัพย์มีการปรับขึ้นลงได้ตามสภาพเศรษฐกิจ สภาพคล่อง ทำเล ที่ตั้ง สิ่งอำนวยความสะดวกด้านโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ หรือค่าเสื่อมสภาพ ทำให้รายได้หรือผลตอบแทนจากการหาผลตอบแทนในสินทรัพย์มีความผันผวนตาม รวมถึงภาระดอกเบี้ยในการกู้ยืม ที่อาจสูงกว่ารายได้ค่าเช่าที่ได้รับหรือค่าใช้จ่ายการบำรุงรักษาที่อาจสูงขึ้นเป็นระยะๆ ฉะนั้นจึงควรศึกษาข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ค่าใช้จ่ายสัมพันธ์กับรายได้จากการให้เช่า 5. ตราสารทุน หรือหุ้น เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงสุด การลงทุนในหุ้นนั้น ผลตอบแทนที่ได้รับจะขึ้นอยู่กับ ผลการดำเนินงานของบริษัท ดังนั้นการลดความเสี่ยงที่ทำได้คือ การประเมินผลการดำเนินงาน ผลประกอบการย้อนหลัง และดูว่าบริษัทนั้นๆ นำไปลงทุนในสินทรัพย์ใดต่อ ตลอดจนดูระยะเวลาในการเริ่มต้นลงทุนและระยะเวลาในการหยุดลงทุนในหุ้น เมื่อใกล้เวลาเกษียณเพื่อลดความเสี่ยง การเริ่มออมเงินเพื่อการเกษียณตั้งแต่อายุยังน้อยทำให้มีระยะเวลาในการเก็บออมมากกว่า อีกทั้งยังมีโอกาสในการลองผิดลองถูก และมีโอกาสปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนได้มากกว่า ดังนั้นควรมีการเริ่มการวางแผนเกษียณตั้งแต่ในช่วงอายุน้อยๆ เพื่อสร้างความมั่งคั่งทางการเงินของคุณในระยะยาว ผมหวังว่าวิธีการง่ายๆ ที่ผมกล่าวมาข้างต้นนี้จะเป็นแนวทางเบื้องต้นที่ทุกๆ ท่านสามารถนำไปปฏิบัติได้นะครับ หากท่านมีข้อสงสัย หรือมีคำถาม สามารถส่งคำถามมาได้ที่ [email protected] แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ ขอบคุณ ... โดย ดร.เจตน์สุระ วงศ์วิเชียร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) [email protected] โทร. 02-648-3333