แก้ปัญหาน้ำท่วมขัง ถ.รัชดาฯ ศาลอาญา และศรีนครินทร์ แยกลำสาลี ใช้หลักวิศวกรรมควบคู่การแก้ไขทางธรรมชาติ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ระบุ กทม.ได้เปิดบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน Water Bank รัชวิภา และศรีนครินทร์ จากที่ปัญหาท้าทายของการระบายน้ำใน กทม. คือทำเลที่ตั้งของเมือง เป็นที่ลุ่มต่ำและอยู่ห่างไกลแม่น้ำ หรือแหล่งน้ำที่เป็นระบบระบายน้ำตามธรรมชาติ ทำให้เวลามีฝนตกหนัก น้ำจะท่วมขังอยู่นานกว่าจะระบายออกไปได้หมด กทม.จึงได้นำหลักวิศวกรรมมาเพื่อแก้ไขปัญหาควบคู่ไปกับการแก้ไขทางธรรมชาติ เช่น การสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ ท่อเร่งระบายน้ำ (Pipe Jacking) และบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน ซึ่ง กทม.ได้นำมาแก้ปัญหา ลดจุดเสี่ยงน้ำท่วมอย่างได้ผล กทม.เปิดบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน แก้ 2 จุดอ่อนจมซ้ำซาก รัชดาฯ-ศรีนครินทร์ กทม. สร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน หรือ Water Bank เพิ่มอีก 2 แห่ง คือ บ่อหน่วงน้ำใต้ดินรัชวิภา เพื่อแก้ไขปัญหาจุดที่มีน้ำท่วมขัง บริเวณ ถ.รัชดาภิเษก ศาลอาญา แยกรัชโยธิน เป็นบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน กักเก็บน้ำได้ 10,000 ลูกบาศก์เมตร อยู่บริเวณสวนสาธารณะใต้สะพานข้ามแยกถนนรัชดาภิเษกกับถนนวิภาวดีรังสิต มีท่อระบายขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.8 เมตร เชื่อมกับระบบท่อระบายน้ำหลักในแนวถนนรัชดาภิเษกสำหรับรับน้ำส่วนเกินของระบบท่อระบายน้ำหลัก เพื่อลำเลียงน้ำไปเก็บไว้ในบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน เตรียมระบายออกแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งพื้นที่ด้านบนของบ่อหน่วงน้ำนี้เป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนทั่วไปสามารถใช้พื้นที่ได้ มีพื้นที่ออกกำลังกาย ลู่วิ่ง สนามตะกร้อ และสนามบาสเกตบอล พร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) เพื่อความปลอดภัย ซึ่งสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในแยกรัชโยธินและแยกรัชดาลาดพร้าว นอกจากนี้ ภายในโครงการยังมีบ่อหน่วงน้ำพลาสติกขนาด 80 ลูกบาศก์เมตร ไว้รองรับน้ำฝนที่ตกในพื้นที่สวนสาธารณะเพื่อกักเก็บไว้ใช้สำหรับรดน้ำต้นไม้ในสวนด้วย อีกที่คือบ่อหน่วงน้ำใต้ดินศรีนครินทร์ ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในถนนศรีนครินทร์ บริเวณแยกลำสาลี แยกกรุงเทพกรีฑาถึงคลองกะจะและพื้นที่ กักเก็บน้ำได้ขนาด 10,000 ลูกบาศก์เมตร อยู่บริเวณใต้สะพานทางแยกต่างระดับถนนศรีนครินทร์กับถนนกรุงเทพกรีฑาบริเวณใต้สะพานทางแยกต่างระดับถนนศรีนครินทร์กับถนนกรุงเทพกรีฑา ซึ่งรับนํ้าส่วนเกินจากระบบระบายนํ้าในถนน เข้าเก็บในบ่อฯ และจะสูบระบายน้ําจากบ่อออกสู่คลองสาธารณะต่อไป เป็นการเร่งระบายน้ำเพื่อไม่ให้ท่วมขังบนพื้นดิน ซึ่งตอนนี้ กทม.ได้พัฒนาระบบระบายน้ำหลายด้าน ทำให้จุดเสี่ยงน้ำท่วมลดลง และจะยังคงเดินหน้าลดปัญหาน้ำท่วมขังให้มากที่สุด