เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ "รุ่งเช้า 28 - 29 มีนาคมนี้ ชวนชมดาวเคราะห์ยามเช้า #ดาวศุกร์ #ดาวเสาร์ #ดาวอังคาร เคียง #ดวงจันทร์ วันที่ 28 - 29 มีนาคม 2565 ดาวศุกร์ ดาวเสาร์ และดาวอังคาร จะปรากฏใกล้กันบนท้องฟ้า ทางดาราศาสตร์เรียกว่า “การร่วมทิศ” เริ่มสังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 04.00 น. เป็นต้นไป บริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออก มีเวลาสังเกตประมาณ 2 ชั่วโมงก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ซึ่งในวันที่ 28 มีนาคม จะมีดวงจันทร์เสี้ยวข้างแรมปรากฏใกล้ดาวอังคาร ส่วนวันที่ 29 มีนาคม ดวงจันทร์จะเปลี่ยนตำแหน่งมาปรากฏใกล้กับดาวเสาร์ “การร่วมทิศ” คือ ปรากฏการณ์ที่มีวัตถุท้องฟ้า เช่น ดาวเคราะห์ ดวงจันทร์ ดาวฤกษ์สว่างเด่น ตั้งแต่ 2 วัตถุขึ้นไป ปรากฏบนท้องฟ้า โดยมีระยะห่างเชิงมุมไม่เกิน 5 องศา ในที่นี้วันที่ 28 มีนาคม ดาวศุกร์จะปรากฏใกล้ดาวเสาร์ 2.3 องศา และจะปรากฏใกล้กันมากขึ้นอีกในวันที่ 29 มีนาคม เพียง 2.1 องศา ถือเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์หนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เนื่องจากดาวเคราะห์เปลี่ยนตำแหน่งบนท้องฟ้าไปเรื่อยๆ ตามแนวสุริยะวิถี (เส้นทางการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์บนฟ้า) ดังนั้น การที่ดาวเคราะห์ปรากฏบนท้องฟ้าในทิศเดียวกัน หรือเคลื่อนที่มาอยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกันจึงถือเป็นเรื่องปกติ สำหรับผู้สนใจ สามารถติดตามชมความสวยงามของปรากฏการณ์ท้องฟ้ายามเช้าในช่วงเวลาดังกล่าวได้ หลังจากนี้ดาวอังคารจะค่อยๆ เคลื่อนที่เปลี่ยนตำแหน่งบนท้องฟ้า และจะปรากฏใกล้ดาวเสาร์มากที่สุดเพียง 0.3 องศา ในวันที่ 5 เมษายน 2565"