เมื่อเวลา 14.00 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้แถลงข่าว ที่พรรคประชาธิปัตย์ เรื่องจุดยืนต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยกล่าวว่าตนจะไม่ขอรับร่างรัฐธรรมนูญเนื่องจากตนได้พิจารณาโจทย์สำคัญ 3 ประการ คือปัญหาทิศทางการพัฒนาประเทศ 2.ปัญหาความขัดแย้งในสังคม และ 3.ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่าแม้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญพยายามจะแก้ไขปัญหาตามโจทย์ทั้ง 3 ประการแต่ตนมองแล้วไม่ดพียงพอจะตอบโจทย์ทั้ง 3 ได้ ไม่ว่าจะเป็นหมวดสิทธิและเสรีภาพที่ถดถอยลงไปจากรัฐธรรมนูญฉบับ2550 และยังเพิ่มบทบาทและอำนาจของระบบราชการส่งผลให้รัฐบาลในอนาคตไม่ตอบสนองต่อความต้องการต่อปัญหาของประเทศและประชาชน รวมทั้งขาดความคล่องตัวในการรับมือกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกได้ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่าในส่วนของปัญหาการตรวจสอบถ่วงดุลแกลแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมนั้น ตนเชื่อว่าการวางน้ำหนักไปยังวุฒิสภาที่มาจาการคัดเลือกหรือการแต่งตั้ง จะเป็นการเพิ่มคู่ขัดแย้งในระบบการเมืองมากกว่าจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ยิ่งการทำให้รัฐธรรมนูญแก้ไขได้โดยยากก็จะทำให้เป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งในอนาคต ไม่ต่างจากความขัดแย้งที่ประเทศไทยเคยผ่านมาในอดีต นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อไปว่าสำหรับการแก้ไขปัญหาการทุจริต ตนสนับสนุนการเพิ่มโทษและการเข้มงวดด้านคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต แต่อย่างไรก็ตามคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกลับถูกทำให้ขาดความเป็นอิสระและอ่อนแอลงเนื่องจากบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ บัญญัติว่าให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นสังกัดของพรรครัฐบาลใช้ดุลยพินิจในการตรวจสอบ ป.ป.ช.ได้ และการลดเงื่อนไขให้มีการอุทธรณ์ในคดีทุจริตของนักการเมืองได้ง่ายขึ้น ใช้องค์คณะใหม่แทนที่จะเป็นที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาเช่นในอดีต ซึ่งตนคาดว่าผู้ที่ได้ประโยชน์จากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถ้าผ่านประชามติ ก็คือจำเลยคดีรับจำนำข้าว ถ้าศาลตัดสิว่าจำเลยเหล่านี้ผิดก็ใช้สามารถสิทธิอุทธรณ์ตามรัฐธรรมนูญใหม่ได้เลย นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อยืนยันว่าตนสนับสนุนการปราบโกง แต่สิ่งที่ตนยกมาทำให้กระบวนการปราบโกงอ่อนแอลง ไม่ได้ทำให้การปราบโกงมีความเข้มข้นมากขึ้น ตนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ตอบโจทย์ประเทศ ตนไม่อาจตัดสินใจรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เพราะความกลัวว่าจะได้รับสิ่งที่แย่กว่าหรือกลัวว่าความวุ่นวายจะตามมา ถ้าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้นตนเชื่อว่าจะทำให้ประเทศมีโอกาสมากขึ้น ตนขอสนับสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้นำในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อมอบรัฐธรรมนูญที่ดีกว่าให้กับประชาชน ตามโรดแมปของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ก็จะต้องมีการทบทวนและฟังเสียงของสังคมมากขึ้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวต่อว่าจุดเริ่มต้นของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่น่าจะเป็นฉบับปี 2550 ที่เคยผ่านการทำประชามติมาแล้วและมีบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ที่ผ่านมามีความพยายามจะรื้อรัฐธรรมนูญปี 2550 ศาลรัฐธรรมนูญก็บอกว่าจะรื้อก็ต้องไปถามประชาชนก่อน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ผ่านการทำประชามติ อีกทั้งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ไม่ใช่ต้นเหตุของรัฐประหาร หลังจากการรัฐประหารนั้นรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ถูกฉีกโดยทันที่แต่ยังถูกคำสั่ง คสช.ระงับใช้ระยะเวลาหนึ่ง ซึ่ง คสช.ก็คงมองออกว่ารัฐธรรมนูญไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด ทั้งนี้ตนขอสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ดำเนินการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศให้เป็นรูปธรรมตามระยะเวลาที่เหลือก่อนการเลือกตั้ง และสนับสนุนให้มีบทบัญญัติที่เข้มข้นในด้านการปราบปรามการทุจริต มีกลไกเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในอดีตอย่างเป็นรูปธรรม “ผมไม่ได้สนใจว่า คสช. นปช.ใครต่อใครจะพูดอะไร ถ้าเป็นต้องไปไม่เห็นด้วยกับคนอื่น เพราะเห็นว่าเขาเป็นคนใช้ไม่ได้ ขนาดนาฬิกาตายยังบอกเวลาถูกวันละ 2 ครั้งเลยครับ ฉะนั้นผมจะทิ้งท้ายไว้เพียงว่าคนที่เป็นห่วงว่าผมมาแถลงจุดยืนแบบนี้แล้วมันเป็นเรื่องของการไปสมคบรวมหัวของนักการเมือง ของพรรคการเมือง ขอเรียนว่าไม่ใช่ครับ” นายอภิสิทธิ์กล่าวและกล่าวต่อว่าอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์นั้นสนนับสนุนวิถีแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขและจะซื่อสัตย์สุจริตกับประชาชนไม่มีวันสมคบกับคนโกงชาติทั้งที่เคยโกงและคิดโกงในอนาคตอย่างเด็ดขาด นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่าการแถลงวันนี้ไม่สามารถเป็นมติพรรคได้เพราะพรรคการเมืองไม่สามารถประชุมได้ อย่างไรก็ตามตนไม่ได้มองว่าสิ่งที่จะแถลงเป็นความเห็นส่วนตัวเพราะเป็นจุดยืนที่แสดงในฐานะหัวหน้าพรรคบนพื้นฐานอุดมการณ์พรรคและการดำเนินการพรรคมาตั้งแต่ก่อตั้งปี 2489 จึงไม่ใช่ความชอบไม่ชอบส่วนตัวแต่เป็นการสานต่ออุดมการณ์ที่สำคัญของพรรค ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการแถลงข่าวครั้งนี้มีแกนนำพรรคหลายคนมาร่วมรับฟังด้วย อาทิ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ คุณหญิงกัลยาโสภณพานิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตส.ส.จำนวนหนึ่ง โดยนายอภิสิทธิ์ ไม่ตอบคำถามใด ๆ ของสื่อมวลชน โดยระบุว่า วันนี้ไม่ตอบคำถามเพราะอยากให้ไปพิจารณาสาระทั้งหมดและพร้อมที่จะตอบคำถามในอนาคต ตนเคารพความเห็นที่แตกต่างเสมอถ้าใครเห็นว่าที่ตนพูดไม่ถูกก็พร้อมแลกเปลี่ยนเสมอ