ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หัวหน้าคณะทำงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐภาคเอกชน ช่วงนี้หลายคนคงได้ยินคำว่า “ประชารัฐ” กันบ่อยครั้ง สำหรับโครงการสานพลังของภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจเอกชน ชุมชนท้องถิ่น และภาครัฐ เพื่อช่วยกันเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็งและยั่งยืน ด้วยการผนวกกลุ่มงานในชุมชน 3 กลุ่มหลักเข้าด้วยกัน คือ การเกษตร การแปรรูป และการท่องเที่ยวโดยชุมชน พร้อมขับเคลื่อนโดย 5 กระบวนการหลักในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise โดย ใช้ชื่อว่า บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีประเทศไทย จำกัด นำร่อง 5 จังหวัดแรก ได้แก่ ภูเก็ต เพชรบุรี อุดรธานี เชียงใหม่ และบุรีรัมย์ พร้อมขยายพื้นที่ไปสู่ 76 จังหวัดทั่วประเทศไทย ไทยเบฟ เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ได้รับโอกาสในฐานะบริษัทเอกชนให้เป็น 1 ใน 12 คณะกรรมการภาครัฐและเอกชน เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชารัฐ โดยมี คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) รับหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ (E3) -จุดเริ่มต้นของการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการประชารัฐ เรื่องประชารัฐนี้เป็นแนวนโยบายของ ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประสงค์จะเห็นความร่วมมือของทุกภาคส่วน ภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ร่วมมือกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตไปสู่อนาคต โดย ท่านรองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดตั้งคณะสานพลังประชารัฐขึ้น ประกอบด้วยคณะการทำงานด้านต่างๆ 12 คณะ มีรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ เป็นหัวหน้าทีมภาครัฐ และมีผู้บริหารของบริษัทชั้นนำในประเทศเป็น หัวหน้าทีมภาคเอกชน ร่วมกันหาแนวทางสู่อนาคตในด้านต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติ 12 ด้านครับ -วางกรอบแนวคิดการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายอย่างไร เราอยู่ในคณะทำงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากประชารัฐ มีหัวหน้าคณะทำงานภาครัฐ คือ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผมรับหน้าที่ หัวหน้าคณะทำงานภาคเอกชน และมีคณะกรรมการประกอบด้วยผู้ที่มีแนวคิดที่จะช่วยชุมชนทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยตัวแทนภาคประชาสังคมคือ นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป คุณพลากร วงศ์กองแก้ว สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และ คุณอภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมพัฒนาชุมชน มาร่วมกันคิดว่าจะช่วยชุมชนได้อย่างไร ทุกคนมีเป้าหมายสำคัญอยู่เพียงเรื่องเดียวคือ “การเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนและสร้างความสุขที่ยั่งยืนให้แก่ผู้คนในชุมชนทั่วประเทศ” เรามีรหัสที่ใช้กันในการขับเคลื่อนงานของคณะของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากคือ 1 / 3 / 5 / 77 ก็คือ 1 เป้าหมาย 3 กลุ่มงาน คือ เกษตร แปรรูป และท่องเที่ยวในชุมชน ซึ่งคณะทำงานได้พิจารณากันแล้วว่าเป็นกลุ่มอาชีพหลัก และจะช่วยชุมชนทั่วประเทศให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เราเลือก 3 กลุ่มงานเพราะเรามองว่าประชาชนกว่า 20 ล้านคนประกอบอาชีพเกษตรเป็นอาชีพหลักและการนำสินค้ามาแปรรูปเป็นสินค้าโอท็อป จะสามารถสร้างรายได้หรือเพิ่มรายได้ รวมถึงเพิ่มมูลค่าของสินค้าต่างๆ ที่เป็นสินค้าของชุมชนได้อีกด้วย ส่วนด้านการท่องเที่ยวชุมชน เรามีแนวทางที่จะส่งเสริมชุมชนในรูปแบบของกลไกการเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน มีการติดต่อซื้อขายไปมาหาสู่กันทั้งประเทศเพื่อสร้างรายได้ ทำอย่างไรที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวต่างชาติและชาวไทยให้ซื้อสินค้าชุมชน เราวางรากฐานกระบวนการทำงานร่วมกัน 5 ด้าน คือ การเข้าถึงปัจจัยการผลิต การสร้างองค์ความรู้ การตลาด การสื่อสารสร้างการรับรู้เพื่อความยั่งยืน และการบริหารจัดการ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ที่มีจิตอาสา และมีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมกันเสริมในสิ่งที่ชุมชนขาดในแต่ละกระบวนการ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้ออกแบบโครงสร้างของ “บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด” ให้ครอบคลุมพื้นที่ให้ครบทุกจังหวัด 76 จังหวัด ร่วมถึงส่วนกลาง ให้เป็น “บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด” โดยจังหวัดต่างๆบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด นี้ จะเป็นวิสาหกิจชุมชน ยึดแนวทางการสร้างประโยชน์ให้ชุมชนเป็นเป้าหมายหลัก -ภารกิจของ ไทยเบฟ กับ โครงการประชารัฐ เป็นเรื่องที่ดีและเป็นโอกาสสำคัญที่ ไทยเบฟ จะได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือสังคม เราลงแรงลงใจช่วยจัดโครงสร้างให้ทุกภาคในสังคมจะได้รับประโยชน์ ร่วมกันทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความเจริญเติบโตของประเทศต่อไปในอนาคต ผมมีความตั้งใจที่จะอยากให้โครงสร้างนี้สามารถเป็นเวทีให้คนเก่งคนดีมีจิตอาสาสามารถมาร่วมงานสร้างพัฒนาชุมชนในประเทศให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน การจัดตั้งเป็นบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ชื่อบริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดและส่วนกลางขึ้นนี้ เชื่อว่าจะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะสร้างความยั่งยืนให้แก่คนไทย เพราะไม่มีใครสามารถยกเลิกได้ จะทำได้ก็ต่อเมื่อผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นผู้แทนของพื้นที่ต่างๆ นั้นล้มเลิกความตั้งใจเอง นอกจากไทยเบฟ จะได้ร่วมเป็นหนึ่งในคณะทำงาน และร่วมในกลุ่ม E3 ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐแล้ว เรายังได้ประสานความร่วมมือกับกลุ่มทีซีซี (TCC Group) เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมกับอีก 2 กลุ่มคณะทำงาน จากทั้งหมด 12 กลุ่มคณะทำงาน ดังนี้ (E3) การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ (E5) การศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ โดย ไทยเบฟ ร่วมกับโครงการ Connext ED ในรูปแบบของ School Partners ให้กับสถานศึกษาทั่วประเทศ ร่วมกับผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อศึกษาปัญหาและความต้องการของโรงเรียนที่มาเข้าร่วมโครงการโรงเรียนประชารัฐ ซึ่งบทบาท School Partners นี้ถือได้ว่าเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะช่วยพัฒนาการศึกษาในโรงเรียนทั่วประเทศ -การพัฒนาในแต่ละพื้นที่ มีความเหมือน หรือแตกต่างกันอย่างไร ผมได้มีโอกาสลงไปในแต่ละพื้นที่ด้วยตัวเอง ทำให้ได้เห็นถึงวัฒนธรรมความเป็นไทยของพี่น้องคนไทยเรา จากความมีน้ำใจ อัธยาศัยน่ารัก เห็นถึงความรักและหวงแหนบ้านเกิดของพี่น้องคนไทย และเห็นได้ถึงความแตกต่างของแต่ละพื้นที่ จึงทำให้ชุมชนแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน โครงการ “สานพลังเพื่อบ้านเกิด” จึงเกิดขึ้นเพื่อต้องการค้นหาคนรุ่นใหม่ๆ ที่มีอายุประมาณ 20 - 30 ปี มีใจอยากช่วยกันพัฒนาบ้านเกิด โดยเบื้องต้นควรมีความรู้ความเข้าใจลักษณะเฉพาะในพื้นที่ และมีความผูกพันกับพื้นที่ของตัวเอง ผลตอบรับดีมาก เราได้ผู้สมัครที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ กว่าหมื่นคน นั่นก็แสดงให้เราเห็นแล้วว่ามีคนจำนวนมากที่รักบ้านเกิดเช่นเดียวกับพื้นที่ที่เราไปพบเจอมา ซึ่งบริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด ก็เน้นเรื่องของ 5 กระบวนการที่จะพัฒนา 3 กลุ่มงานให้ถึงเป้าหมาย ซึ่ง 1 ใน 5 กระบวนการที่มีความสำคัญก็คือเรื่องของการสื่อสารให้เกิดการรับรู้โดยครอบคลุมไปถึงความภาคภูมิใจในศักยภาพของชุมชน และสิ่งมีค่า เช่น โบราณสถาน โบราณวัตถุ องค์ความรู้ ประวัติศาสตร์และเรื่องราวสำคัญในชุมชน -ความคาดหวังในผลลัพธ์ของชุมชน จากเป้าหมายของคณะทำงานฯ เป้าหมายของคณะทำงานฯ ในการดำเนินงานที่ตั้งใจไว้ คือ การทำให้ประชาชนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเรากำหนดตัวชี้วัดหลักไว้ 3 ประการ คือ (1.) รายได้ของคนในชุมชนเพิ่มขึ้น (2.) มูลค่าของสินค้ามีมากขึ้น (3.) ความยากจนในชุมชนลดลง การที่ชุมชนมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้มูลค่าสินค้าที่เพิ่มขึ้น เรื่องนี้ก็เป็นแนวทางการบริหารจัดการธุรกิจทั่วไป โดยจะต้องเพิ่มทั้งยอดขายและราคาของสินค้าในชุมชนไปพร้อมกัน