ในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 นอกจากคนกรุงเทพฯ จะได้หย่อนบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแล้ว ยังต้องใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ไปพร้อมกันด้วย ด้วยสถานะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ทำให้คนกรุงเทพฯ มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแล้ว ยังมีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) อีกด้วย นั่นหมายถึงคนกรุงเทพฯ สามารถออกเสียงเลือกตั้งทั้งหัวหน้าฝ่ายบริหาร และสมาชิกสภาท้องถิ่น ซึ่งเป็นฝ่ายตรวจสอบกำกับการทำงานของฝ่ายบริหาร ทุก ๆ 4 ปี ตามวาระปกติ ความแตกต่างระหว่างกรุงเทพมหานครกับ “จังหวัด” ต่าง ๆ ก็คือ จังหวัดซึ่งมีการบริหารราชการส่วนภูมิภาคนั้น ไม่มีสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง เพื่อทำหน้าที่กำกับตรวจสอบการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัด การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้ จะทำให้องค์ประกอบการบริหารราชการกรุงเทพมหานครครบถ้วนสมบูรณ์ นั่นคือ ประชาชนจะได้เป็นผู้เลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อเข้ามาทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายบริหาร มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณาให้ความเห็นชอบในการออกข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร อนุมัติงบประมาณของกรุงเทพมหานคร และเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นกิจการของกรุงเทพมหานคร สรุปอำนาจหน้าที่ของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก. ได้ดังต่อไปนี้ •เสนอและพิจารณาให้ความเห็นชอบในการตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร (เช่นเดียวกับการพิจารณากฎหมายของ ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร) •พิจารณาและให้ความเห็นชอบในร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเป็นการพิจารณางบประมาณทุกหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ที่ฝ่ายบริหารนำเสนอว่ามีเหตุผลเหมาะสมอย่างไร สมควรเพิ่มหรือลด ตามกระบวนการของการตราข้อบัญญัติ •ควบคุมการบริหารงานของฝ่ายบริหารด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ตั้งกระทู้ถาม เสนอญัตติให้ กทม.ปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ หรือขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อให้ข้อเสนอแนะต่อการทำงานของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและ กทม. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสภากรุงเทพมหานครถือเป็นกลไกสำคัญในการบริหารราชการ ที่จะกำหนดทิศทางการพัฒนาเมืองหลวงของประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้า ไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก และยังเป็นกลไกสำคัญที่จะประสานความต้องการของประชาชนชาวกรุงเทพฯ จนนำไปสู่การปฏิบัติได้เป็นอย่างดี การเลือกตั้งของกรุงเทพมหานครที่กำลังจะมีขึ้น ถือว่าประชาชนคนกรุงเทพฯ เป็นเจ้าของอำนาจโดยแท้จริง ในฐานะผู้เลือกผู้แทนหรือบุคคลมาดำรงตำแหน่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งตำแหน่ง “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” และ “สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร” (ส.ก.) ประชาชนคนกรุงเทพฯ จะเป็นผู้เลือกผู้แทนของตนเองเข้ามาบริหารและตรวจสอบการทำหน้าที่ของ กทม. เพื่อให้สนองตอบต่อปัญหาและความต้องการของคนกรุงเทพฯ และการพัฒนากรุงเทพฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป หากคุณเป็นคนกรุงเทพฯ ที่มีสัญชาติไทย (หากแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี) และมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง หรือเกิดก่อนวันที่ 24 พฤษภาคม 2547 และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง คุณคือหนึ่งในผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,374,131 คน ในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 เวลา 08:00-17:00 น. เสียงคุณสำคัญ ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร