29 ก.ย. 59 นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการประสานข้อมูลสถานการณ์น้ำได้รับแจ้งจากกรมชลประทานในการเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จาก 20.75 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เป็น 40 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือประมาณ 460 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยมวลน้ำดังกล่าวจะไหลไปรวมกับปริมาณน้ำจากคลองชัยนาท - ป่าสัก และมีการควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหกในอัตราไม่เกิน 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้แม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่บริเวณท้ายเขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา จนถึงจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 1.00 – 1.50 เมตร ปภ. จึงได้ประสาน 3 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่งจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสักเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงประสานหน่วยชลประทานในพื้นที่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ เปิดปิดประตูระบายน้ำให้สอดคล้องกับอัตราความเร็วของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก และปริมาณฝนที่ไหลมาสมทบ พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณนอกแนวคันกั้นน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก เกษตรกร ผู้ประกอบการ ร้านค้า เรือโดยสาร นักท่องเที่ยว ประชาชนที่สัญจรทางน้ำ ผู้ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างโครงสร้างหรือเขื่อนป้องกันตลิ่งบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก ให้ติดตามสถานการณ์และประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ให้เตรียมพร้อมในการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงให้พ้นจากแนวน้ำท่วม และระมัดระวังอันตรายจากการสัญจรทางน้ำ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีฝนตกหนักถึงหนักมากอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย และเรือท้องแบนประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย และสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และทีมกู้ชีพกู้ภัยประจำตำบล (OTOS) ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงจัดวางแนวกระสอบทรายและติดตั้งเครื่องสูบน้ำป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำเอ่อล้นท่วมพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก ท้ายนี้ ผู้ประสบภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป