นายชัยเกษม นิติสิริ อดีตอัยการสูงสุด(อสส.)และอดีตรมว.ยุติธรรม ให้ความเห็นต่อกรณี ที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยประเด็นคำถามพ่วงที่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ.ได้ปรับแก้สอดคล้องกับ รัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่า ผู้ที่มีสิทธิเสนอชื่อ นายกรัฐมนตรี ยังต้องเป็นอำนาจของ ส.ส.เช่นเดิม แต่ที่น่ากังวลคือ กรณีที่สภาผู้แทนราฎร ไม่สามารถหาบุคคลที่รัฐสภา ให้ความเห็นชอบได้ แล้วต้องมาใช้กลไกของมาตรา 272 ซึ่งเปิดช่องให้รัฐสภาของดเว้นบุคคลตามบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอได้ ซึ่งจากเดิม รัฐสภากำหนดไว้ที่ 2ใน 3 แต่ศาลรัฐธรรมนูญมาวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงเหลือเพียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภาเท่านั้น ประเด็นดังกล่าวจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า โอกาสที่จะได้นายกฯนอกบัญชี ซึ่งพรรคการเมือง ไม่ได้นำเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.เพื่อนำเสนอต่อประชาชนในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง มีโอกาสเกิดขึ้นได้สูง และเห็นว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิฉัยเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของจำนวนสมาชิกรัฐสภาเพื่อของดเว้นการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อ โดยอ้างเจตนารมณ์ของประชาชน ในการลงมติคำถามพ่วงที่ผ่านมา เป็นการวินิจฉัยแทนประชาชนหรือไม่ เพราะประชาชนอาจไม่ได้คิดเหมือนศาลรัฐธรรมนูญ ก็เป็นได้ โดยเฉพาะในตัวคำถามพ่วงซึ่งไม่ได้ระบุว่าให้อำนาจ สว.สามารถของดเว้นนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอได้ อีกประเด็นที่มีความชัดเจนคือ ส.ว.จะอยู่ในอำนาจต่อเนื่อง5ปี แม้รัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงหรือต้องยุบสภาก็ตาม คำวินิจฉัยนี้จึงเปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีคนนอก มีโอกาสอยู่ได้ยาวถึงสองสมัยของสภาผู้แทนราษฎรหรือ 8ปี ซึ่งหากนับรวมระยะเวลาช่วงเตรียมการเลือกตั้งเข้าไปด้วย ประชาชนจึงมีสิทธิได้นายกฯคนนอก ยาวถึง 10ปี นายชัยเกษม กล่าวอีกว่า ให้น้ำหนักรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน จะเป็นนายกฯนอกบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอ หรือเป็นกลไก ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 มากกว่า นายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองเสนอตามบัญชีรายชื่อ เพราะรัฐธรรมนูญถูกออกแบบให้ ไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียงในสภาแบบเด็ดขาด และเชื่อว่า พรรคขนาดใหญ่สองพรรคในปัจจุบันจะไม่สามารถ จับมือตั้งรัฐบาลได้ เมื่อไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ การนำมาตรา 272 มาบังคับใช้จึงเป็นไปได้สูง หรือหากมองอีกมุมหนึ่ง ก็เป็นไปได้เช่นกันว่า พรรคการเมืองที่มีสายสัมพันธ์กับทหาร พรรคขนาดกลางขนาดเล็กจะจับมือกันตั้งรัฐบาล แล้วใช้เสียง สว.ร่วมให้ความเห็นชอบอีกชั้นหนึ่งก็มีโอกาสเป็นไปได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากเดินหน้าตามกลไกของมาตรา 272 และรัฐธรรมนูญในลักษณะเช่นนี้ การทำงานของรัฐบาลอาจไม่ราบรื่นมากนัก เพราะเมื่อเข้าไปบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะการออกกฏหมาย การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ใช้เสียงเฉพาะ สส.เท่านั้นไม่มีเสียง ของสว.ที่ คสช.เลือกเข้ามาคอยขับเคลื่อนงานให้เหมือนเช่นปัจจุบัน ส่วนอายุของรัฐบาลจะอยู่ได้ยาวนานแค่ไหนภายใต้กติกาที่เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆขึ้นอยู่กับการใช้อำนาจโดยเฉพาะในทางกฏหมายอย่างเป็นธรรมหรือไม่