มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ พาไปต่อที่โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ที่บ้านเขาแรด ม.2 ต.บางลึก อ.เมือง จ.ชุมพร นายนภดล มีวิเศษ หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมโครงการชลประทานชุมพร ในฐานะหน่วยงานสนองพระมหากรุณาธิคุณดูแลพื้นที่ ให้ข้อมูลว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชาทานพระราชดำริให้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมของจังหวัดชุมพรเนื่องจากตั้งแต่ปี 2532 ได้เกิดพายุใต้ฝุ่นเกย์ บ้านเรือนพังเสียหาย มีประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก ขาดที่พักอาศัย ความเป็นอยู่ลำบากมากในช่วงนั้น และเกิดพายุโซนร้อน “ซีต้า” เมื่อวันที่ 20-24 สิงหาคม 2540 ทำให้ประชาชนในจังหวัดชุมพร และอำเภอใกล้เคียงประสบปัญหาน้ำท่วมได้รับความเดือดร้อนปีนั้นน้ำท่วมสูง 2.20 เมตร ปริมาณน้ำที่มากไม่สามารถระบายลงสู่ทะเลได้ทัน ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ดำเนินการตรวจสอบและศึกษาข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาทรงพบว่าหนองใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มทางตอนเหนือมีสภาพภูมิประเทศและสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติเหมาะสมในการพักน้ำก่อนระบายลงสู่ทะเลเพราะติดคลองหัววัง-พนังตัก ซึ่งสภาพเดิมไม่ได้มีการขุดลอกเหลือระยะทางประมาณ 1,460 เมตรต้องดำเนินการขุดลอกเพื่อที่จะสามารถรับน้ำและระบายน้ำลงสู่ทะเลโดยไม่ต้องผ่านตัวเมืองชุมพร เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้สร้างประตู้ระบายน้ำเพื่อควบคุมปริมาณน้ำของหนองใหญ่ โดยพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ ผ่านมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ และพระราชทานชื่อว่า “ประตู้น้ำราชประชานุเคราะห์ 1” และมีพระราชกระแสรับสั่งให้ทางจังหวัดชุมพรรีบเร่งขุดคลองหัววัง-พนังตัก ที่ยังไม่แล้วเสร็จบริเวณอ่าวพนังตักให้ทะลุเพื่อให้ทันกับพายุใต้ฝุ่นลินดาที่จะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2540 ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประเมินว่าน่าจะเวลาสร้างภายใน 1 ปี แต่สามารถสร้างเสร็จเพียง 1 เดือนตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2540 ได้สร้างเสร็จและทันเวลาก่อนที่พายุไต้ฝุ่นลินดาจะเข้าฝั่งเพียง 1 คืน ด้วยน้ำพระทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนไม่ให้ประสบปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมในครั้งนั้นประตูน้ำราชประชานุเคราะห์ 1 ระบายน้ำออกจากหนองใหญ่ลงทะเลผ่านคลองหัววัง - พนังตัก เพื่อระบายน้ำจากตัวเมืองชุมพรให้ลงสู่ทะเล และปัจจุบันนี้ชาวชุมพร โดยเฉพาะในเขตตัวเมืองชุมพรไม่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังอีกต่อไป ต่อมาได้มีพระราชดำริให้ปรับปรุงพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ให้เป็นแก้มลิงธรรมชาติเพื่อรองรับการระบายน้ำจากคลองท่าแซะ มาเก็บไว้ก่อนที่จะไหลลงสู่คลองท่าตะเภา และเมื่อมีปริมาณน้ำที่มากก็ให้ไหลระบายมาที่คลองหัววัง-พนังตักเพื่อระบายลงสู่ทะเล” นายนภดลสรุป มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ นำคณะสื่อมวลชนเดินทางต่อมายัง “ศูนย์เรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา” ต.บางลึก อ.เมือง จ.ชุมพร สถานที่แห่งนี้ เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือคนในชุมชนและผู้ที่สนใจศึกษาหาความรู้ด้านการทำเกษตรกรรมเพื่อนำไปพัฒนาพื้นที่ทำกินของตนเองให้ดีขึ้น นายบุญเชิญ ดำคำ ผู้จัดการศูนย์เรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา ได้ให้ข้อมูลว่า สถานที่แห่งนี้จัดเป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ เป็นแหล่งศึกษาที่นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯ มาขยายผลเปิดให้ผู้เข้ามาศึกษาดูงานตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2552 ไม่ก็จะเป็นนักเรียน นักศึกษาทุกสถาบันต่าง ๆ ที่สนใจต้องการนำแนวทางและหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯ นำไปใช้ประโยชน์แก่ตนเอง หรือนำไปเผยแพร่ให้กับคนในชุมชนของตนเองโดยเฉพาะการทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ อันเนืองมาจากพระราชดำริ จะมีให้เรียนรู้เรื่อง “ต้นข้าว” มีทุ่งนาจำลอง สาธิตการทำนาข้าวเหลืองปะทิวแบบอินทรีย์ โรงผลิตปุ๋ยหมัก เป็นศูนย์อนุรักษ์พันธุ์ข้าวที่สำคัญของจังหวัดชุมพร เช่น พันธุ์ภูเขาทอง พันธุ์ดอกขาม พันธุ์นางเขียน เป็นต้น และจัดให้มีการศึกษาอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ การปลูกไม้เศรษฐกิจแซมในแปลงเกษตร เช่น ยางนา ตะเคียนทอง เป็นต้น “การทำเกษตรจะเน้นให้ผู้สนใจได้เรียนรู้การลดต้นทุนการผลิต การทำเกษตรแบบผสมผสาน ตามแนวทฤษฎีใหม่ฯ ด้วยการปลูกพืชหลักและพืชแซม พร้อมเลี้ยงสัตว์หัวใจสำคัญคือแหล่งน้ำ เพื่อเพิ่มรายได้ในครัวเรือน และที่สำคัญของศูนย์ฯ เป็นเครือข่ายจากภูผา สู่มหานที มีเครือข่ายและศูนย์ฝึกอบรมทั่วทั้ง 8 อำเภอของจังหวัด มีความรู้ด้านต่าง ๆ ไม่ซ้ำกัน เช่น อำเภอพะโต๊ะ เป็นการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำในรูปแบบคนอยู่ป่ายัง อำเภอหลังสวน ดำเนินการตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯ ครบวงจร ลดต้นทุน 90% โดยใช้ธรรมชาติเป็นตัว ขับเคลื่อน อำเภอทุ่งตะโก เป็นการทำการเกษตรแบบผสมผสานเน้นการใช้พื้นที่ในแปลงเกษตรให้เกิดประโยชน์ อำเภอปะทิว มีแนวคิดในการส่งเสริมให้คนชุมพรปลูกข้าวทำนา เพื่อเป็นการรักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของจังหวัดชุมพรไม่ให้สูญพันธุ์ เป็นต้น” ผู้จัดการศูนย์เรียนรู้ตามศาสตร์พระราชากล่าวทิ้งท้าย