วันที่ 17 กันยายน 2559 มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำรินำสื่อมวลชนเยี่ยมชมพื้นที่โครงการพัฒนาส่วน พระองค์ ณ บางเบิด จังหวัดชุมพร โดย นางสาวปราณปริญา สุขศรี เจ้าหน้าที่ดูแลโครงการฯ ให้ข้อมูลว่า พื้นที่ โครงการฯ เป็นที่ดินส่วนพระองค์ตั้งอยู่บริเวณบ้านน้ำพุ ต.ปากคลอง อ.ปะทิว จ.ชุมพร มีเนื้อที่ประมาณ 448 ไร่ เป็นพื้นที่ติดอยู่กับทะเลบริเวณหาดบางเบิด และสภาพดินเป็นดินทรายชายทะเลถูกคลื่นทับถมกันเป็นเวลานานทำ ให้เกิดเนินทรายกระจายอยู่ทั่วไป และในปี 2541 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระกระแสรับสั่งให้ทำการ อนุรักษ์สภาพแวดล้อมเดิมมีสภาพเป็นสันทรายป่าชายหาด พัฒนาให้เป็นพื้นที่เกษตร พร้อมทั้งฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรม ในพื้นที่เนินทราย และอนุรักษ์ความหลากหลายของพันธุ์ไม้ในพื้นที่ พันธุ์สัตว์ป่าไว้เป็นที่ศึกษา ทำให้สถานที่เป็นแหล่ง เรียนรู้ให้กับประชาชนเรื่องของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาด้านเกษตรกรรมโดยเฉพาะการทำเกษตรในพื้นที่ดินทราย และเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านการกสิกรรม เป็นเส้นทางเดินศึกษา ธรรมชาติ พันธุ์พืชสันทรายริมทะเล มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มีพื้นที่พืชแปลกหายาก เช่น เสม็ดแดง เสม็ดขาว เตยทะเล มะนาวผี มังคุดป่า เป็นต้น ตลอดเส้นทางมีแปลงสาธิตการปลูกพืชผสมผสาน จำนวน 22 ไร่แบ่งเป็น 4 แปลง ได้แก่ แปลงมะม่วงหิมพานต์ จะปลูกแซมด้วยมะขามเปรี้ยว มะม่วงเบา แปลงมะพร้าว จะปลูกแซมด้วยส้มโอ ขนุน น้อยหน่า พุทรา ละมุด มะม่วง กล้วยเล็บมือนาง มันปู หางไหลแดง มีแปลงมะพร้าวเพิ่มอีก 2 แปลง ๆ หนึ่งจะปลูกแซมด้วย ส้มโอ มะม่วง สับปะรด อีกแปลงจะปลูกแซมด้วยสนทะเล มีการสาธิตการเพาะชำกางมุ้งขนาดใหญ่ของดอกหน้าวัวโดยไม่ใช้ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีใดๆ “จุดเด่นในโครงการพัฒนาส่วนพระองค์ จังหวัดชุมพร ก็มีการทำกาแฟขี้ชะมด จะให้ศึกษาการเลี้ยงเก็บไขจากตัวชะมดและการขยายพันธุ์ชะมดเช็ด พร้อมทั้งสามารถทำการผลิตกาแฟขี้ชะมด โดยให้ชะมดกินเม็ดกาแฟสุก จะเลือกกินเฉพาะเมล็ดกาแฟที่ดีที่สุดเท่านั้น แล้วเมื่อถ่ายออกมาจะได้เม็ดกาแฟที่หอมมีคุณภาพสูง เนื่องจากภายในกระเพาะของชะมดจะมีน้ำย่อยเอนไซม์และสารเคมีชนิดหนึ่งทำให้โปรตีนแตกตัว ผลกาแฟจึงมีกลิ่นหอม รสชาติอร่อยกลมกล่อมเฉพาะตัว ซึ่งกลายเป็นกาแฟที่มีราคาแพงที่สุดในโลก ทางโครงการฯ จัดโปรโมชั่นพิเศษให้สำหรับผู้เข้าเยี่ยมชม ได้ทดลองดื่มในราคาเพียงแก้วละ 100 บาทเท่านั้น และมีจำหน่ายสินค้าอีกมากจากโครงการพัฒนาส่วนพระองค์ฯ อีกมากมาย เช่น น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ ได้เปิดสอนวิธีการทำให้กับชาวบ้านได้มีรายได้เสริมอีกด้วย สเปรย์กันยุงสมุนไพร ถ่านผลไม้ที่ได้จากผลน้ำส้มควันไม้ เป็นต้น” นางสาวปราณปริญากล่าว ช่วงบ่ายเดินทางมาที่ ธนาคารปูม้า บ้านเกาะเตียบ ต.ปากคลอง อ.ปะทิว จ.ชุมพร ต้องเดินทางโดยการนั่งเรือของชาวบ้าน ไปยังสถานที่เก็บปูม้า รวมถึงวิธีการดูแลปูม้า โดย นางจินดา เพชรกินนิด นักวิชาการประมงชำนาญพิเศษศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยตอนกลาง จ.ชุมพร ให้ข้อมูลว่า กิจกรรมนี้ทางสถาบันสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายฟื้นฟูอนุรักษ์ป่าชายเลนอ่าวทุ่งมหาอย่างยั่งยืน ได้เข้ามาดำเนินการ และได้รับการสนับสนุนจากโครงการจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่งโดยชุมชนแบบบูรณการ อ.ปะทิว จ.ชุมพร ของกรมประมง และองค์การบริหารส่วนตำบลปากคลอง เริ่มแรกมีสมาชิกจำนวน 11 ราย เป็นชุมชนแรกที่นำแนวคิดปรับเปลี่ยนขนาดการปรับเปลี่ยนขนาดตาอวนพื้นท้องลอบปูม้ามาใช้ในการอนุรักษ์ปูม้าทำให้การจับปูม้าเพศเมียขนาดเล็กที่เริ่มสืบพันธุ์ได้จำนวนลดลง ต่อมาศูนย์วิจัยและพัฒนาการประมงทะเลอ่าวไทยตอนกลาง มีการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ในการดำเนินกิจกรรม ปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มเป็น 20 รายที่นำแม่ปูไข่ที่จับได้ไปใส่ไว้ในกระชังธนาคารปู โดยจะมีการเขียนชื่อผู้ปล่อย และวันที่ปล่อยที่บริเวณกระดองปูม้า ทำให้เกาะเตียบและเกาะยอ เป็นแหล่งสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งของจังหวัดชุมพร นายดำ ชัยวิสิทธิ์ ประธานกลุ่มธนาคารปูม้า ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ธนาคารปูม้า เริ่มแรกเป็นความคิดและภูมิปัญญาของผู้คนในชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ โดย ลุงจาง ฟุ้งเฟื่อง ชาวบ้านชุมชนเกาะเตียบ เป็นท่านแรกที่เริ่มทำการอนุรักษ์พันธุ์ปูม้าไข่นอกกระดองเมื่อปี พ.ศ.2545 เนื่องจากท่านได้สังเกตว่าสัตว์น้ำในทะเลเริ่มมีจำนวนลดลงเรื่อย หากชาวประมงได้แต่จับ และนำไปขายเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้นโดยไม่ส่งกลับคืนสู่ทะเล สักวันหนึ่งปูม้าคงไม่มีให้จับแน่ จึงได้มาจัดกลุ่มฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าชุมชนชนเกาะเตียบ “มีการสร้างกระชังปูม้ารับฝากแม่ปูที่มีไข่นอกกระดอง หรือ ไข่ลากทราย โดยชาวประมงเมื่อจับได้ก็จะนำมาบริจาคให้กลับธนาคารปูม้า เพื่อให้ไข่เหล่านั้นมีโอกาสฟักตัวมาเป็นลูกปูเติบโตเต็มวัยออกสู่ทะเลต่อไป ช่วยให้เพิ่มจำนวนปูในท้องทะเลมากขึ้น เมื่อแม่ปูที่ปล่อยไข่ออกจากท้องหมดแล้วก็จะนำไปจำหน่ายและนำเงินที่ได้ฝากเข้า “กองทุนธนาคารปู” ปัจจุบันมีเรือรำเล็กที่ทำประมงเข้าร่วมประมาณ 18 รำ ที่นำปูม้ามาปล่อยที่กระชัง ทางเราจะเน้นเรื่องการอนุรักษ์ก่อน พร้อมทั้งให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ถ้าทุกคนร่วมมือกันช่วยเหลือกันทำให้ปูม้ามีจำหน่ายราคาที่ดีขึ้น และมีทุกฤดูการขายให้กับนักท่องเที่ยว ทำให้คนในชุมชนมีรายได้อย่างต่อเนื่อง ก็มีหน่วยงานราชการเข้ามาสนับสนุนกิจกรรมนี้เพิ่มมากขึ้น ทั้งชาวบ้าน และหน่วยงานต่าง ๆ ก็ช่วยเหลือกิจกรรมนี้ร่วมกันเป็นอย่างดี” ประธานกลุ่มธนาคารปูม้าสรุป น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปรับเข้าใช้ในการทำธนาคารปูม้า