วันที่ 27 ก.ค. 2559 นายยุทธ ศรีทองสุข ซึ่งเป็นแกนนำและเป็นตัวแทนของพนักงานเหมืองแร่ทองคำ อัครา รีซอร์สเซส จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ให้สัมภาษณ์ว่าต่อไปนี้เหมืองแร่ทองคำอัคราจะไม่ยอมให้กลุ่มบุคคลที่หวังผลประโยชน์แอบแฝงแล้วมาร้องเรียนกับรัฐบาลเพื่อใส่ร้ายป้ายสีว่าการทำเหมืองทองก่อให้เกิดมลพิษหรือมลภาวะอีกต่อไปแล้ว ซึ่งล่าสุดวันนี้ได้ร่วมกับเครือข่ายผู้นำชุมชนและประชาชนรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรีจำนวน 20 คน ซึ่งประกอบด้วย นายฝ้าย มหาสัตย์ นายกอบต วังโพรง จ.เพชรบูรณ์ พร้อมด้วยกำนันผู้ใหญ่บ้านตัวแทนวิสาหกิจชุมชน ตัวแทนกลุ่มอาชีพ จาก พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก รวมแล้วจำนวน 20 คน ได้เดินทางเข้ากรุงเทพไปยื่นหนังสือให้กับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินที่มี นาย รักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นผู้มารับหนังสือร้องทุกข์ร้องเรียนของกลุ่มบุคคลดังกล่าวที่มีเนื้อหาว่าเครือข่ายผู้นำชุมชนและประชาชนรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี ( เหมืองทองอัครา ) ที่รวมตัวกันมายื่นหนังสือในครั้งนี้มีความประสงค์เพื่อร้องทุกข์ต่อผู้ตรวจการแผ่นดินในประเด็นที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมให้กับเหมืองทองอัคราไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 โดยอ้างความขัดแย้งในพื้นที่นั้น ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงจริงที่ว่า เหมืองมีใบอนุญาตประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่ที่มีอายุถึงปี พ.ศ.2571 อีกหลายใบ และยังมีแร่สำรองคงเหลือพอที่จะทำเหมืองได้อีกประมาณ 7-8 ปี ตามแผนผังการทำเหมืองที่ได้รับอนุมัติจากหน่วยงานรัฐมาก่อนหน้านี้ ดังนั้นหากไม่ต่อใบอนุญาตโรงประกอบโลหกรรมก็จะส่งผลให้เกิเความเดือดร้อนทั้งในด้านธุรกิจรวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน พนักงาน และครอบครัวรวมแล้วกว่า 5 พันชีวิต ดังนั้นกลุ่มเครือข่ายผู้นำชุมชนและประชาชนที่อยู่รอบเหมืองทองอัคราจึงขอยื่นหนังสือให้ผู้ตรวจการแผ่นดินที่เคยลงพื้นที่รับฟังข้อมูลจากประชาชนกลุ่มต่างๆเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 ได้โปรดนำข้อเท็จจริงที่ประกอบไปด้วยรายชื่อของประชาชน 5,787 รายพร้อมบัตรประชาชนที่แสดงความบริสุทธิ์ใจและลงชื่อร่วมกันว่าสนับสนุนการทำเหมืองแร่ทองคำที่ต่างยืนยันว่า 15 ปี ที่ผ่านมาไม่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพดังที่มีผู้กล่าวอ้างใส่ร้าย โดยที่ไม่มีแพทย์ท่านใด หรือ โรงพยาบาลใด ระบุความเชื่อมโยงของการทำเหมืองกับปัญหาสุขภาพประชาชน รวมถึงไม่ได้มีความขัดแย้งอย่างรุนแรงในชุมชนอย่างที่มีการพูดถึงในสื่อต่างๆ อีกทั้งความขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้นนั้น แท้ที่จริงเกิดจากคนจำนวนน้อยที่มีวาระแอบแฝงหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหวังผลประโยชน์จากการขายที่ดินให้กับเหมืองทองอัครา ด้ายราคาที่สูงมาก หรือการเรียกร้องค่าชดเชยที่ไม่สมเหตุผล โดย นายธงชัย ธีระชาติดำรง ตัวแทนภาคประชาชน ซึ่งอาศัยอยู่ที่หมู่ 9 ต.เขาเจ็ดลูก กล่าวยืนยันว่า การมีเหมืองทองทำให้ชาวบ้านนับพันคนมีงานทำ , นางบังเอิญ ขวัญใจรักษ์ ตัวแทนชมรมนักธุรกิจของอำเภอทับคล้อ เปิดเผยว่า ถ้าหากปิดเหมืองทองอัคราก็จะเกิดความหายนะทางธุรกิจของจังหวัดพิจิตรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ธุรกิจท่องเที่ยว ที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร ตึกแถว ร้านขายของชำ ที่เคยมีเงินสะพัดเดือนละ 100-200 ล้านบาท ก็จะทำให้ขาดรายได้ในส่วนนี้ไป ธุรกิจต่างๆคงต้องเฉาแน่ เช่นเดียวกับ นายวรากร จำนงนารถ ตัวแทนผู้สูงอายุ ต.เขาเจ็ดลูก กล่าวว่า ที่ผ่านมา บ้าน วัด โรงเรียน โรงพยาบาล หรือ รพ.สต. รวมถึงการพัฒนาท้องถิ่นที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ได้ในทุกวันนี้ เพราะเหมืองทองอัคราจ่ายภาษีและเงินค่าภาคหลวงที่จัดสรรลงมาสนับสนุนในพื้นที่ รวมถึงเงินกองทุนต่างๆ ดังนั้นจึงขอสนับสนุนและยืนยันว่าเหมืองทองอัคราอยู่ร่วมกับชาวบ้านได้ นายยุทธ ศรีทองสุข ซึ่งเป็นแกนนำและเป็นตัวแทนของพนักงานเหมืองแร่ทองคำ อัครา รีซอร์สเซส กล่าวสรุปปิดท้ายว่า หากไม่อนุญาตให้เหมืองทองดำเนินกิจการต่อปัญหาความเดือดร้อนก็จะทวีมากขึ้น ดังนั้นการมายื่นหนังสือร้องทุกข์ในครั้งนี้กลุ่มเครือข่ายฯจึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้โปรดได้ใช้อำนาจหน้าที่ตาม พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 ในการพิจารณาสอบสวนและแสวงหาข้อเท็จจริง โดยเชิญหัวหน้าหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมและกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเรื่องการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมที่แตกต่างจากที่เคยปฏิบัติ หากท่านเห็นว่าคำสั่งทางปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่สอดคล้องกับสิทธิตามกฎหมายและสภาพตามจริงของการทำเหมืองแร่ทองคำขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้โปรดให้คำแนะนำหรือเสนอแนะที่เหมาะสมไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้องหรือคณะรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขคำสั่งทางปกครองดังกล่าวให้ชอบด้วยกฎหมายต่อไปด้วย