“ อุ้มพระดำน้ำ ” ประเพณีหนึ่งเดียวในโลก ที่ชาวเพชรบูรณ์สืบทอดกว่า 400 ปี “งานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ หรือ พิธีอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชา พระคู่บ้านคู่เมืองของ จ.เพชรบูรณ์ลงสรงน้ำ เป็นประเพณีที่แปลกและมีอยู่เพียงแห่งเดียวในโลกที่ชาว จ.เพชรบูรณ์ ได้ทำสืบทอดกันมาตั้งแต่ในสมัยโบราณนานกว่า 400 ปี ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในช่วงเทศกาลสารทไทยของทุกปี” ประเพณี “อุ้มพระดำน้ำ” เป็นประเพณีที่แปลกประหลาด เกิดขึ้นที่ จ.เพชรบูรณ์ เพียงแห่งเดียว นอกจากมีเรื่องราวเชิงอิทธิปาฏิหาริย์เข้าไปผูกพันแล้ว ยังนับเป็น “มรดกทางวัฒนธรรม” ที่แฝงไว้ด้วย “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ซึ่งบรรพบุรุษนำความเชื่อและศรัทธาจากชาวบ้านที่มีต่อพุทธศาสนาและองค์พระพุทธมหาธรรมราชา ให้เกิดการดูแลรักษาแม่น้ำลำคลอง จุดกำเนิดของพิธีกรรม “อุ้มพระดำน้ำ” ประเพณีที่มีตำนานความเชื่อเล่าขานสืบทอดมาว่าสมัยเมื่อราว 400 ปี ที่ผ่านมามีชาวเพชรบูรณ์กลุ่มหนึ่งได้ออกหาปลาในแม่น้ำป่าสัก และในวันนั้นได้เกิดเหตุการณ์ประหลาดคือ ตั้งแต่เช้ายันบ่ายไม่มีใครจับปลาได้สักตัวเดียว เลยพากันนั่งปรับทุกข์ริมตลิ่ง ที่บริเวณ “วังมะขามแฟบ” อยู่ทางตอนเหนือของตัวเมืองเพชรบูรณ์ จากนั้นสายน้ำที่ไหลเชี่ยวได้หยุดนิ่ง พร้อมกับมีพรายน้ำค่อย ๆ ผุดขึ้นมา และกลายเป็นวังน้ำวนขนาดใหญ่ รวมทั้งมีพระพุทธรูปองค์หนึ่งลอย ขึ้นมาเหนือน้ำ แสดงอาการดำผุดดำว่ายอย่างน่าอัศจรรย์ ชาวบ้านคนหนึ่งในกลุ่มจึงลงไปอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานที่วัดไตรภูมิ จากนั้นในปีต่อมาซึ่งตรงกับ “วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10” พระพุทธรูปองค์นี้ได้หายไปอย่างไร้ร่องรอย และ มีผู้พบอีกครั้งแสดงอาการดำผุดดำว่ายอยู่กลางแม่น้ำป่าสัก บริเวณเดียวกับที่พบครั้งแรก ชาวบ้านจึงร่วมกันอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐาน ณ วัดไตรภูมิ เป็นครั้งที่ 2 พร้อมร่วมกันถวายนามว่า “พระพุทธมหาธรรมราชา” จากนั้นเป็นต้นมา เจ้าเมืองเพชรบูรณ์สมัยนั้น จะต้องอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชา ไปประกอบพิธี “อุ้มพระดำน้ำ” เป็นประจำทุกปี ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ณ บริเวณวังมะขามแฟบ สืบทอดมาจนกระทั่งปัจจุบัน แต่ยังมีข้อกำหนดอีกว่า ผู้ที่จะอุ้มพระดำน้ำได้นั้นจะต้องเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ คนเดียวเท่านั้น เพราะมีตำแหน่งเทียบเท่าเจ้าเมืองสมัยโบราณ จะให้ผู้อื่นกระทำแทนมิได้ ทั้งนี้หลังการประกอบพิธีเชื่อกันว่า องค์พระจะไม่หายไปดำน้ำเอง ฝนก็จะตกต้องตามฤดูกาล บ้านเมืองจะมีแต่ความสงบสุข “พระพุทธมหาธรรมราชา” เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะสมัยลพบุรี หล่อด้วยสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง 13 นิ้ว สูง 18 นิ้ว ไม่มีฐาน พุทธลักษณะพระพักตร์กว้าง พระโอษฐ์และ พระหนุป้าน พระกรรณยาวย้อยจดถึงพระอังสา พระเศียรทรงชฎาเทริด มีกระบังหน้า ทรงสร้อยพระศอพาหุรัด และรัดประคตเป็นลวดลายงดงาม โดยประวัติการสร้างไม่ปรากฏเด่นชัด มีเพียงการสันนิษฐานว่า ภิกษุแก่กล้าวิทยาคม 2 รูป เป็นผู้สร้างขึ้นสมัยลพบุรี ในช่วงที่ขอมเรืองอำนาจ จนกระทั่งต่อมากรุงสุโขทัยขยายอำนาจ จึงถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน จนมาถึงยุค “พระยาลิไท” กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์พระร่วง ขณะนั้นเมืองเพชรบูรณ์ ซึ่งอยู่ในขอบขัณฑสีมาของกรุงสุโขทัย ได้ว่างกษัตริย์ปกครอง จึงดำริให้ “ออกญาศรีเพชรรัตนานัครภิบาล” (นามเดิมว่าเรือง) ไปครองเมือง พร้อมกับมอบ “พระพุทธมหาธรรมราชา” ให้ไปเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง โดยได้กำชับว่าหากแวะที่ใดให้สร้างวัด และนำองค์พระประดิษฐาน ซึ่งการเดินทางสมัยนั้นต้องล่องไปตามลำน้ำต่าง ๆ ใช้ระยะเวลาแรมปีกว่าจะถึงเมืองเพชรบูรณ์ และเมื่อมาถึงมีดำริจะนำ “พระพุทธมหาธรรมราชา” ประดิษฐานวัดมหาธาตุ แต่เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการขัดต่อพระบรมราชโองการ จึงสร้างวัดขึ้นใหม่และตั้งชื่อว่า “วัดไตรภูมิ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติแก่พระร่วงที่ได้พระราชนิพนธ์เรื่องไตรภูมิพระร่วง พร้อมกับนำองค์พระขึ้นประดิษฐาน ส่วนความเชื่ออีกด้านหนึ่งเชื่อกันว่า “พ่อขุนผาเมือง” เจ้าเมืองราด ได้รับพระราชทานจาก “พระเจ้าชัยวรมันที่ 7” กษัตริย์นครธม ผู้เป็นพ่อตา ให้นำพระไปประดิษฐานเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง ภายหลังอภิเษกสมรสกับ “พระนางสิงขรมหาเทวี” ราชธิดา แต่หลังจาก “พ่อขุนผาเมือง” ร่วมกับ “พ่อขุนบางกลางหาว” เจ้าเมืองบางยาง พระสหาย ยกทัพเข้ายึดครองกรุงสุโขทัย ทำให้ “พระนางสิงขรมหาเทวี” โกรธแค้นและเผาเมืองราด จากนั้นพระนางได้โดดลงแม่น้ำป่าสักปลงพระชนม์ชีพ เหล่าเสนาอำมาตย์ได้พากันอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชา ลงแพล่องไปตามแม่น้ำป่าสัก เพื่อหนีเปลวเพลิง แต่เนื่องจากแม่น้ำป่าสักมีความคดเคี้ยวและเชี่ยวกราก ทำให้แพอัญเชิญแตก องค์พระเลยจมลงในแม่น้ำ กระทั่งต่อมากลุ่มคนหาปลาไปพบตามตำนานดังกล่าว นายบัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า งานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ หรือ พิธีอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชา พระคู่บ้านคู่เมืองของ จ.เพชรบูรณ์ลงสรงน้ำ เป็นประเพณีที่แปลกและมีอยู่เพียงแห่งเดียวในโลกที่ชาว จ.เพชรบูรณ์ ได้ทำสืบทอดกันมาตั้งแต่ในสมัยโบราณนานกว่า 400 ปี ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในช่วงเทศกาลสารทไทยของทุกปี โดย จ.เพชรบูรณ์ ร่วมกับเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)เพชรบูรณ์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กำหนดจัดงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ จ.เพชรบูรณ์ ประจำปี 2559ระหว่างวันที่ 30 กันยายน ถึง วันที่ 4 ตุลาคม 2559 “งานวันแรกจะมีพิธีบวงสรวงและพิธีอัญเชิญองค์พระพุทธมหาธรรมราชาแห่ทางบกไปรอบเมืองเพชรบูรณ์ และในวันที่ 1 ตุลาคม 2559 พิธีอัญเชิญองค์พระพุทธมหาธรรมราชาลงเรือแห่ทางน้ำ โดยเริ่มจากท่าน้ำหน้าวัดวัดไตรภูมิ แห่ไปประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำที่ท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร ปีนี้ได้ขยับเวลาจาก 09.39 น.เป็น 10.39 น. และ มีการดำน้ำเพิ่มเติม อีก 3 ครั้ง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ เนื่องในโอกาสเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี และเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ และ พระบรมวงศานุวงศ์” สำหรับผู้ร่วมพิธีอัญเชิญองค์พระพุทธมหาธรรมราชา ไปประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ ณ บริเวณท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ฝ่ายเจ้าเมือง กรมการเมืองทั้ง 4 ฝ่าย ร่วมประกอบพิธี ส่วนผู้ที่ร่วมพิธีอุ้มพระดำน้ำ ได้แก่ (ฝ่ายเวียง) พล.ต.สมพงษ์ แจ้งจำรัส ผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 1 (ฝ่ายวัง) นายไกรสร กองฉลาด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ (ฝ่ายคลัง) ดร.วีระชัย จิตรบรรเทา ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเพชรบูรณ์ และ (ฝ่ายนา) นายสมพล พิธิยากูล ประธานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน จ.เพชรบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีหัวหน้าส่วนราชการร่วมพิธีอุ้มพระดำน้ำ อาทิ ผู้ลั่นฆ้องให้สัญญาณ นายบุญเติม เรณุมาศ นายอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ส่วนนายสนั่น พงษ์อักษร ปลัดจังหวัดเพชรบูรณ์ และ นายสณฑ์ทรรศน์ ป้อมเย็น พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.เพชรบูรณ์ (เป็นเทวดา) ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ บอกอีกว่า แม้ว่าปีนี้มีคำสั่งให้ตนไปดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ในวันที่ 1 ตุลาคม 2559 ส่งผลทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่จะเข้าทำหน้าที่ในฐานะเจ้าเมืองในการประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำนั้นว่างลง แต่กำหนดการประกอบพิธีบวงสรวง และเสี่ยงทายตรงกับวันที่ 30 กันยายน จึงต้องให้ตนประกอบพิธีบวงสรวง และ เสี่ยงทาย ส่วนในวันประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ วันที่ 1 ตุลาคม นี้ จะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์คนใหม่ ประกอบพิธี ซึ่งหมายความว่างานในปีนี้มีผู้ว่าราชการจังหวัดถึงสองคนในการประกอบพิธีการสำคัญ งานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ปีนี้จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่อลังการ เพราะเป็นงานประเพณีของ จ.เพชรบูรณ์ที่มีหนึ่งเดียวในโลก และ 1 ปี มีครั้งเดียว ร่วมชมขบวนแห่องค์พระอลังการรอบเมืองเพชรบูรณ์ นมัสการพระพุทธมหาธรรมราชา และ แข่งเรือทวนน้ำที่วัดไตรภูมิ การประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ที่วัดโบสถ์ชนะมาร และการแสดงแสงเสียงตำนานอุ้มพระดำน้ำ เทศกาลอาหารอร่อย และ กิจกรรมบันเทิงที่พุทธอุทยานเพชบุระสืบสานมรดกทางวัฒนธรรม เยี่ยมยลวิถีประเพณีหนึ่งเดียวในหล้า สู่ ศรัทธาแห่งมหาชน นอกจากนี้ยังจัดให้มีการแสดง แสง สี เสียง ตำนานอุ้มพระดำน้ำ ตั้งแต่วันที่ 1-4 ตุลาคม 2559 เวลา 20.39 น. และเทศกาลอาหารอร่อย ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน ถึงวันที่ 4 ตุลาคม 2559 เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป ณ บริเวณพุทธอุทยานเพชบุระ จึงขอเชิญนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาเที่ยวชมงานประเพณีหนึ่งเดียวในหล้า สู่ศรัทธาแห่งมหาชน ตำนานมหัศจรรย์แห่งเพชบุระ แรม 15 ค่ำ เดือน 10 “งานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ” ณัฏยา หารบุตร / เพชรบูรณ์