วันที่ 29 ก.ย.59 นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวถึงเรื่องของคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีว่าผู้ที่จะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้นั้นจะต้องเป็น ส.ส. และเชื่อจะเสนอได้จะต้องเป็นชื่อที่ พรรคการเมืองได้เสนอไว้ก่อนการเลือกตั้ง โดยในเวลาที่จะโหวตเลือก ส.ส และ ส.ว จะโหวตร่วมกัน เป็นสมาชิกรัฐสภา ผู้ที่ได้เสียงข้างมากจะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่อย่างไรก็ตามถ้าไม่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ก็จะต้องมีการเข้าชื่อเพื่อยกเว้นกติกาการเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อ 3 ชื่อของพรรคการเมือง ซึ่งการเข้าชื่อเพื่อขอให้ยกเว้นนั้นมีการเปลี่ยนแปลง เพราะของเดิม กรธ.เขียนว่าให้ ส.ส.เป็นผู้ขอเข้าชื่อได้เท่านั้น โดยใช้เสียง ส.ส. มากกว่าครึ่งหนึ่ง จากนั้นค่อยให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติให้ได้จำนวน 2 ใน 3 ของรัฐสภาเสนอเข้าชื่อ จึงจะสามารถใช้ข้อยกเว้นได้ แต่สิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยมานั้น บอกถึงการเข้าชื่อว่าในเมื่อ ส.ว.มีส่วนร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ดังนั้น ส.ว.ก็ควรมีสิทธิเสนอให้เข้าชื่อได้ด้วย โดยให้มีจำนวนเสียงของผู้เข้าชื่อขอยกเว้นทั้ง ส.ส.และ สว. ให้ได้เสียงเกินครึ่ง จากนั้นจึงจะสามารถขอเปิดประชุมเพื่อลงมติให้ได้ 2 ใน 3 ของรัฐสภาจึงจะใช้ข้อยกเว้นได้ “การนับหนึ่งดังกล่าวให้เริ่มจากการทีมีวุฒิสภาแล้ว ทันทีที กกต. ประกาศรับรองให้มีสภาผู้แทนราษฎรเมื่อรับรองผล ส.ส. เกิน 95 % ก็ถือว่ามีครบทั้งสองสภา เป็นองค์ประกอบของการมีรัฐสภาแล้ว” นายมีชัยกล่าว นายมีชัยกล่าวยืนยันว่าอย่างไร ส.ว.ก็ไม่อาจจะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ ต้องให้ ส.ส.เป็นผู้เสนอชื่อ แต่อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญนั้นยังได้วินิจฉัยไปถึงเรื่องระยะเวลาในการใช้ข้อยกเว้นดังกล่าว ซึ่งจากเดิม กรธ.ได้เขียนไว้ว่าในวาระเริ่มแรกให้สามารถใช้ข้อยกเว้นได้ ซึ่งแปลว่าสภาชุดแรก ถ้าสภาชุดแรกอยู่แค่ 4 ปี ก็คือสามารถใช้ข้อยกเว้นนี้ได้แค่ 4 ปีเท่านั้น ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าข้อยกเว้นนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์ในเรื่องการดูแลเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้นจึงเห็นควรให้ใช้ข้อยกเว้นให้เลือกนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองในระยะเวลา 5 ปีนับตั้งแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรก โดยไม่ต้องสนใจว่าจะมีการยุบสภาหรือมีการเปลี่ยนรัฐบาลหรือเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีกี่ครั้งก็ตาม เมื่อถามว่าทำไม กรธ.ถึงไม่บัญญัติข้อยกเว้นให้มีระยะเวลา 5 ปีตั้งแต่ก่อนจะส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ นายมีชัยกล่าวว่า ตนเข้าใจว่าระยะเวลาเปลี่ยนผ่านนั้นควรจะอยู่แค่ในการเลือกตั้ง ส.ส.เพียงแค่ครั้งแรกเท่านั้น การเลือกตั้งในครั้งต่อมาควรจะใช้หลักการตามปกติ แต่ว่าเมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าข้อยกเว้นควรจะมีระยะเวลา 5 ปี กรธ.ก็พร้อมจะปฏิบัติตาม อย่างไรก็ตามตนยอมรับว่ามีการตีความคำถามพ่วงกันไปคนละอย่างระหว่าง กรธ.กับแม่น้ำสายอื่น เมื่อถามความเห็นว่าข้อยกเว้นนี้จะทำให้มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากนอกบัญชีรายชื่อมีอำนาจถึง 8 ปีได้หรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่าตนไม่คิดแบบนั้น แม้จะมีข้อยกเว้น แต่เสียงข้องมากของรัฐสภาก็อาจจะเลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจากบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองก็ได้ นายมีชัยกล่าวต่อถึงเรื่องระยะเวลาหลังจากนี้ว่า กรธ.ก็คงจะมีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญใช้เวลา 14 วัน เพราะเสียเวลาไปแล้ววันหนึ่งเมื่อวันที่ 28 ก.ย. หลังจากนั้นก็ต้องส่งไปให้นายกรัฐมนตรีเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนนำขึ้นทูลเกล้าฯ และลงพระปรมาภิไธยก็จะใช้เวลาทั้งสิ้น 30 วัน เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่าดังนั้นร่างรัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้ในเดือนพ.ย.ใช่หรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่าก็น่าจะเป็นได้ นายมีชัยยังกล่าวถึงขั้นตอนการทำกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้เพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้งว่า ดูแล้วแต่ละฉบับไม่ได้ร่างได้ง่าย แต่ก็จะเริ่มจากสองฉบับแรกก่อน คือ พรป.พรรคการเมืองและ พรป. กกต. เพื่อให้มีการเตรียมตัว ต่อด้วย พรป.การได้มาซึ่ง สว. เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องมี สว. มาก่อน จากนั้นค่อยเป็น พรป. การเลือกตั้ง ส.ส. เพราะทันทีที่บังคับใช้ก็ต้องนับถ้อยหลังให้มีการเลือกตั้งใน 150 วัน