เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 เวลา 19.03 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดาเนินไปในงานกาล่าดินเนอร์  โครงการ “สยามพัสตรา ภูษาสง่าศิลป์ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ” ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

โอกาสนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี  ทรงฉลองพระองค์ ชุดสากล ผ้าไหมยกดอกลายหางนกยูง โดย เพจ  "สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี : We love Her Majesty Queen Suthida Fanpage" โพสต์อธิบายว่า ...

 

ฉลองพระองค์ ชุดสากล ผ้าไหมยกดอกลายหางนกยูง

 

นกยูง หรือ ที่เรียกว่า "บุหรง" บุหรง จะแปลว่า นก หรือ นกยูงก็ได้ เราจะพบคำนี้บ่อยๆ ในวรรณคดีไทย นกยูงไทย เพศผู้ จะมีแพนขนปิดหางยาวหลายเส้น ที่ปลายแพนขนปิดหางนี้ มีดอกดวง ที่เรียกว่า "แววมยุรา" ซึ่งตรงกลางดวง เป็นสีน้ำเงินแกมดำ อยู่ในพื้นวงกลมเหลือบเขียว ล้อมรอบด้วยลายเป็นวงรูปไข่สีทองแดง เวลานกยูงรำแพนจึงเปรียบเหมือนพัดขนาดใหญ่ ที่มีสีสันงดงาม

 

หางนกยูงยังเป็นการสื่อถึงนกยูงซึ่งเป็นพาหนะของพระสุรัสวดี ชายาแห่งพระพรหม ในตำนานเทพปกรณัมฮินดู พระสุรัสวดีนอกจากจะเป็นเทพแห่งการดนตรี การวาดเขียน และการเขียนหนังสือแล้ว ยังถือเป็นเทวีแห่งปัญญาความรู้ เป็นเทวีแห่งการศึกษา การสร้างสรรค์ และศิลปะ

 

ในแง่ความเป็นสากลของตราสัญลักษณ์นั้น นกยูงยังเป็นสัญลักษณ์ของความสมบูรณ์ ความเป็นนิรันดร์ และความงาม ในคริสต์ศาสนา นกยูงเป็นตัวแทนของความเป็นอมตะ สำหรับชาวมุสลิม นกยูงเป็นสัญลักษณ์แห่งจักรวาล และหางนกยูงที่แพนออกเป็นสัญลักษณ์แห่งจักรวาลที่สมบูรณ์ ในตำนานของลัทธิซูฟี พระผู้เป็นเจ้าได้สร้างพระจิตในรูปของนกยูง อาจกล่าวได้ว่าหางนกยูงเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่เชื่อมโยงความงามกับปัญญา เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทางสุนทรียะกับการสร้างสรรค์ทางปัญญาอย่างลึกซึ้ง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูล เพจ  สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี : We love Her Majesty Queen Suthida Fanpage