พระมหากรุณาธิคุณ/เสกสรร สิทธาคม ชมศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(จบ) ยังอยู่ในพื้นที่โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจ้าหน้าที่นำชมขยายความข้อมูลพื้นที่ต่อไปอีกว่าพื้นที่ดำเนินการ และพื้นที่ขยายผลศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ครอบคลุม 33 หมู่บ้านในตำบลคลองขุด, ตำบลรำพัน, ตำบลโขมง อำเภอท่าใหม่ และตำบลสนามไชย, ตำบลกระแจะ อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่ประมาณ 71,025 ไร่ พื้นที่ศูนย์กลาง ได้แก่ บริเวณอ่าวคุ้งกระเบน และพื้นที่โดยรอบ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ ประมาณ 4,000 ไร่ การดำเนินกิจกรรมจะเป็นการผสมผสานระหว่างป่าไม้ และประมง ...พื้นที่รอบนอก ได้แก่พื้นที่ตำบลคลองขุด ตำบลรำพัน อำเภอท่าใหม่ และตำบลสนามไชย ตำบลกระแจะ อำเภอนายายอาม ซึ่งเป็นทั้งเขตเกษตรกรรม และเขตหมู่บ้านประมงตลอดแนวชายฝั่ง มีพื้นที่ประมาณ 57,025 ไร่ การดำเนินกิจกรรมมุ่งเน้นการส่งเสริมการเกษตรแบบบูรณาการ “พื้นที่ขยายผล ได้แก่ พื้นที่ตำบลรำพัน ตำบลโขมง ตำบลเสม็ดโพธิ์ศรี อำเภอท่าใหม่ และพื้นที่ใกล้เคียงศูนย์ฯ มีพื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่ เป็นการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพที่ประสบความสำเร็จในศูนย์ฯ สู่พื้นที่โดยรอบ”เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯสรุป ในส่วนที่ปรากฏในเอกสารสามารถนำมาประมวลผลได้ต่อเนื่องว่าการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีลักษณะ "สหวิทยาการ" (INTERDISCIPINARY) โดยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานเพื่อสร้างรายได้และใช้ทรัพยากรท้องถิ่นหลายกิจกรรม ครอบคลุมถึงการรักษาสภาพป่าโดยการส่งเสริมการปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ที่สำคัญ คือ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่างๆ การเลี้ยงปลา และหอย เพื่อเผยแพร่แก่เกษตรกร การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยงกุ้ง เพื่อที่จะยกระดับฐานะความเป็นอยู่ อาชีพของราษฎรบริเวณรอบอ่าวคุ้งกระเบน และพื้นที่ใกล้เคียงโดยมุ่งเน้นการพัฒนาด้านการประมง และการเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิตของประเทศ และเป็นพื้นฐานของการพัฒนาด้านการประมง ตลอดจนพัฒนากิจกรรมทางด้านอื่นๆ ควบคู่กันไป และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้เกิดความสมดุลตามธรรมชาติ การดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ในปีงบประมาณ 2551 มีผลการดำเนินงาน ติดตามผลกระทบและการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยระบบชลประทานน้ำเค็ม งานบริการด้านคลินิกสัตว์น้ำและบริการตรวจหาเชื้อไวรัส ปรับปรุงระบบการให้น้ำในกิจกรรมงานวิชาการเกษตรยางตอกทอย การซ่อมแซมสะพานแขวน ทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน บำรุงดูแลรักษาสวนรุกชาติและบริเวณชายหาดแหลมเสด็จ การจัดทำฐานข้อมูลศึกษาวิจัยของศูนย์ฯ เพื่อส่งเสริมพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกรปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ ส่งเสริมการเลี้ยงแพะนม การจัดเก็บข้อมูลและสารสนเทศ ส่งเสริมพัฒนาการดำเนินงานสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ การสำมะโนการเกษตรพื้นที่รอบศูนย์ฯ และพื้นที่ขยายผล ขยายผลการฟื้นฟูอาชีพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยระบบชลประทานน้ำเค็ม ฟื้นฟูการเลี้ยงปลาในโรงเรียน การฝึกอบรมหลักสูตรการผลิตอาหารสัตว์น้ำกึ่งสำเร็จรูป เพื่อการลดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์น้ำ การส่งเสริมการเลี้ยงแพะเนื้อ การฝึกอบรมหลักสูตรเยาวชนอนุรักษ์สัตว์ป่า ส่งเสริมการผลิตและใช้สารอินทรีย์ชีวภาพทดแทนสารเคมีทางการเกษตร แปลงสาธิตจุดเรียนรู้การพัฒนาที่ดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง การปรับปรุงพื้นที่ดินเปรี้ยวที่ผ่านการยกร่องเพื่อปลูกแก้วมังกร การฝึกอบรมหลักสูตรการจัดทำบัญชีฟาร์ม ส่งเสริมและพัฒนาการจัดทำบัญชีแก่สหกรณ์และเกษตรกรในพื้นที่เกษตรผสมผสาน เพื่อการเรียนรู้สู่อาชีพตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การฟื้นฟูอาชีพการเลี้ยงสัตว์น้ำ และโครงการขยายผลความสำเร็จตามโครงการฟื้นฟูอาชีพการเลี้ยงสัตว์น้ำของสถาบันเกษตรกร จัดตั้งเครือข่ายกลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร ไร่นาสวนผสม และเกษตรผสมผสาน ส่งเสริมอาชีพกลุ่มสตรีเย็บผ้าบ้านท่าแคลง หมู่ที่ 7 ส่งเสริมอาชีพกลุ่มสตรีทำกะปิ หมู่ที่ 3 ฝึกอบรมอาชีพเสริมของที่ระลึก อาสาสมัครรักษ์คุ้งกระเบน เพาะชำกล้าไม้ป่าชายเลน ไม้ยืนต้น และไม้ประดับ การบำรุงดูแลแปลงอนุรักษ์พันธุกรรมพืชไม้ป่าชายเลน ป่าชายหาด และสมุนไพรพื้นบ้าน การขยายผลการปลูกและบำรุงต้นไม้ป่าชายเลน การฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ปลูกหวายเสริมป่า 120 ไร่ การฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ สร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น 60 แห่ง การส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝก การส่งเสริมและสนับสนุนสวนพฤกษ์ในโรงเรียน จัดสร้างแปลงพืชสมุนไพรเพื่อส่งเสริมการใช้สมุนไพรพื้นบ้านในชุมชน การคัดกรองสารเคมีตกค้างในเลือดเกษตรกร การขุดลอกคลองทุ่งสน การจัดระเบียบชุมชน “คุ้งกระเบนชวนมอง” ส่งเสริมความสามารถด้านประชาสัมพันธ์ และการตลาดผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่น (OTOP)การดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ การจัดการทรัพยากรชายฝั่ง การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพราษฎรของศูนย์ฯ คุ้งกระเบนฯ ได้พัฒนาการดำเนินการสู่การท่องเที่ยว เพื่อเผยแพร่ความรู้และความเพลิดเพลินแก่นักท่องเที่ยว พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับศักยภาพเชิงวัฒนธรรม วิถีชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีอยู่ในพื้นที่และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มขีดความสามารถของพื้นที่อย่างบูรณาการ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเป็น “การท่องเที่ยวเชิงพัฒนา” ซึ่งนักท่องเที่ยว หรือผู้ศึกษาดูงานจะได้รับความรู้ในแขนงต่างๆ ที่สามารถนำไปปฏิบัติหรือประกอบอาชีพได้ ตลอดจนได้รับความเพลิดเพลินในระหว่างท่องเที่ยวด้วย โดยมีผู้ใช้บริการเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 180,000 ราย/ปี และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งทำให้เกิดการกระจายรายได้สู่ราษฎรในพื้นที่โครงการ และจากการดำเนินการท่องเที่ยวเชิงพัฒนาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ซึ่งเป็นที่แพร่หลาย และมีความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวสูง จึงทำให้ศูนย์ฯ คุ้งกระเบน ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมครั้งที่ 3 “ กินรีทอง” ประจำปี 2543 และรางวัลดีเด่นครั้งที่ 4 “ กินรีเงิน” ประจำปี 2545 จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย