สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการจัดสัมมนาในหัวข้อ “U2T: University to Tambon, Integrated Sub-district Economic and Social Upgrading Project” โดยมี ผศ.ดร.ยุพิน ภัทรพงศ์สันต์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการตลาด สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ ซึ่งเป็นประธานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) กล่าวถึงโครงการ U2T มหาวิทยาลัยสู่ตำบลว่าเป็นโครงการริเริ่มอย่างต่อเนื่องเมื่อต้นปีพ.ศ.2564 เริ่มจากภาพรวมของโครงการและเน้นไปที่การพัฒนาพื้นที่แบบครบวงจรสำหรับชุมชน กิจกรรมเหล่านี้นำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ข้อที่ 1 ไม่มีความยากจน ข้อที่ 8 เรื่องการมีงานทำและความเจริญของเศรษฐกิจ ข้อที่ 10 ลดความไม่เท่าเทียมกัน และข้อที่ 12  เรื่องการบริโภคและการผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ   

ได้แนะนำความคิดริเริ่มจากทั่วโลกทางการตลาดที่ชื่อว่า‘Better Marketing for a Better World’ (BMBW) ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ทางการตลาดในการพัฒนาชีวิตและสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนบนบริบทของการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน สำหรับโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล (U2T) เป็นโครงการที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม 

จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้บัณฑิตใหม่หลายคนตกงานและย้ายกลับไปบ้านเกิด U2T มีจำนวน 3,000 โครงการทั่วประเทศไทย ในปีที่ผ่านมาแต่ละโครงการในพื้นที่ จะจ้างบัณฑิตจบใหม่จำนวนสิบคน คนในท้องถิ่นไม่มีงานทำจำนวนห้าคน และนักศึกษาระดับปริญญาตรีอีกจำนวนห้าคนเพื่อทำงานร่วมกันในการแก้ปัญหาของชุมชนโดยใช้ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีอยู่ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรที่เกี่ยวข้องอื่นๆ โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการบรรเทาปัญหาความยากจน

ผศ.ดร.ยุพินได้แนะนำ 3 โครงการที่อาจารย์ได้ทำงานด้วยในปี 2564 ที่ผ่านมาตั้งอยู่ในพื้นที่แขวงบางลำพูล่าง คลองสาน กรุงเทพมหานคร พื้นที่ตำบลค้อเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร และพื้นที่ตำบลราตาปันยัง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี โดยได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือชุมชนฟื้นฟูตำบล ยกระดับบริการการท่องเที่ยว สำรวจหาแหล่งรายได้อื่นๆ และทีมงานหลักอาศัยอยู่ในพื้นที่ ต้นแบบการพัฒนาจากโครงการนี้ถูกนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในพิธีเปิดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติในปี พ.ศ. 2564

เน้นในเรื่องการสร้างอัตลักษณ์ชุมชนโบราณในโลกสมัยใหม่ การสร้างสตรีทอาร์ตโดยฝีมือของเยาวชน การทำแผนการท่องเที่ยวสายมู การท่องเที่ยวสายกิน การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชน การนำแพลตฟอร์มเทคโนโลยี และแอพพลิเคชั่นต่างๆ การสร้างช่องทางการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ยูทูป อินสตาร์แกรม ติ๊กต๊อก ปรับปรุงบรรจุภัณฑ์และหาช่องทางการจัดจำหน่าย พร้อมทั้งนำแอปพลิเคชั่นการเกษตรที่เรียกว่า Ricult (รีคิวท์) มาใช้งานในการลงพื้นที่เพื่อช่วยในการปลูกทางการเกษตร ทีมงานช่วยออกแบบบรรจุภัณฑ์ ให้กับกลุ่มแม่บ้านและชาวนาซึ่งทอผ้าไหมกับผ้าฝ้ายพื้นเมือง ที่สำคัญช่วยให้ชาวบ้านพัฒนาทักษะและผลิตภัณฑ์ที่จะสร้างรายได้สู่ชุมชนในพื้นที่ และยังช่วยให้แน่ใจว่าชาวบ้านมีความพร้อมที่จะจัดการกับปัญหาที่เกิดจากโควิด-19 นอกจากนี้ยังได้แบ่งปันความรู้ทางการตลาดเพื่อช่วยในการสร้างแบรนด์ให้กับผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น เป็นต้น

โครงการของ U2T มีต่อเนื่องในครึ่งหลังของปี 2565 ครอบคลุมเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCGs– Bioeconomy, Circular Economy, and Green Economy) โดยใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัย นำเอาบัณฑิตที่พึ่งจบการศึกษาและประชาชนในพื้นที่มาร่วมดำเนินงานพัฒนากำลังคนให้มีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นทักษะต่อการทำงานในปัจจุบันและทักษะที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG รวมทั้งขยายผลของฐานข้อมูล Thailand Community Big Data (TCD) เป็นตัวอย่างในการนำเสนอการขับเคลื่อน BCG ของประเทศไทยในการประชุมเอเปคปลายปีนี้ต่อไป