มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ประกาศความพร้อมในการดำเนินงาน แผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 13 สมเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ ที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม ภายในปี 2570 หลังบรรลุความสำเร็จครบทุกเป้าหมายจากแผน ฯ ระยะที่ 12 ภายในปี 2565

ศ.คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า แผนพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2565) กำหนดวิสัยทัศน์ คือ "มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมหาวิทยาลัยนำแนวทางเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (EdPEx) เป็นแนวทางการบริหารงานให้เกิดคุณภาพ และมุ่งเน้นการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์เชิงรุก ประกอบด้วย 1.นวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานและสิ่งแวดล้อม มีการพัฒนาองค์ความรู้และสร้างนวัตกรรมเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีและต้นแบบระบบผลิตก๊าซมีเทนอัด

2.นวัตกรรมด้านอาหารและสุขภาพ การดูแลผู้สูงอายุ มีการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงการบริการวิชาการและการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ในด้านอาหาร และ3.ด้านล้านนาสร้างสรรค์ ได้ดำเนินการผ่านการประยุกต์รวมกันระหว่างองค์ความรู้ท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมล้านนา ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และบริการของชุมชน รวมไปถึงการบูรณาการเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อช่วยในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีเอกลักษณ์ของห้องถิ่นนั้นได้

รวมถึงการจัดการศึกษาส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง การวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการและนวัตกรรม และบริการวิชาการทางวิชาการแก่สังคม เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับผู้เรียนทุกช่วงวัยที่ต้องการพัฒนาศักยภาพของตนเอง ทั้งการ Upskill และ Reskill โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมา มีจำนวนหลักสูตรระยะสั้นในรูปแบบ On-site/ Online/ Webinar มากกว่า 400 หลักสูตร เตรียมนักศึกษาให้มีทักษะทางด้านดิจิทัล ก้าวทันต่อเทคโนโลยีในโลกยุคปัจจุบัน

ผลการดำเนินงานตามแผนฯ ระยะที่ 12 ทำให้มหาวิทยาลัยบรรลุความสำเร็จทั้ง 3 เป้าหมายตามที่ตั้งไว้ ภายในปี 2565 คือ 1. ได้รับการจัดอันดับของ Time Higher Education Impact Rankings 2022 อยู่ในอันดับที่ 70 ของโลก 2. ผลการประเมินคุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีผลการประเมิน Social Return

On Investment (SROI) คิดเป็นมูลค่า 16,500 ล้านบาท 3. มหาวิทยาลัยได้รับรางวัล "การบริหารสู่ความเป็นเลิศ ประจำปี 2563 Thailand Quality Class:TQC 2020" จากสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม"

ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการจัดการนวัตกรรม โดยสร้างพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนางานวิจัยสู่การสร้างนวัตกรรมเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์จริง ตั้งแต่ระดับต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ในรูปแบบ CMU BCG Platform สำหรับการบูรณาการองค์ความรู้ของทุกส่วนงานในมหาวิทยาลัย ทั้งกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ และกลุ่มมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์

นอกจากการพัฒนาด้านวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังให้ความสำคัญกับสังคม โดยส่งเสริมการบริการวิชาการจากองค์ความรู้และศักยภาพของคณะ/ส่วนงานต่างๆ โดยได้จัดตั้ง "หน่วยสนับสนุนวิชาการรับใช้สังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU Societal Engagement)"ขึ้น เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิชาการและชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน และผลักนให้เกิดงานวิชาการรับใช้สังคมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

"การกำหนดแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่ได้เป็นการกำหนดมาเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มหาวิทยาลัยต้องการมุ่งเข้าไปที่การพั ฒนาสังค ม เศรษฐกิจในทุกภาคส่วนโดยมองถึงประโยชน์ของสังคมโลกเป็นสำคัญ เนื่องจากเรามองว่าเราต้องให้ความสำคัญกับผลกระทบที่จะเกิดต่อสังคม ชุมชน เศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาคประเทศและระดับโลกเป็นอันดับแรก นี่คือหัวใจสำคัญของการบรรลุเป้าหมายสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน" อธิการบดี ม.เชียงใหม่ กล่าว 

     

ด้านศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า แผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 13 นั้นสามารถตอบโจทย์ความต้องการและเป็นที่พึ่งอันดับหนึ่งในใจของสังคม มุ่งสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกด้วยความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมและ Digital Transformation โดยกําหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็น "มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม" ซึ่งจะสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมสู่สังคมการนำงานวิจัยและองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์จริง 

รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต่อว่า ในแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 13 มหาวิทยาลัยยังมุ่งสู่การเป็น "มหาวิทยาลัยดิจิทัล" โดยนำ Digital Transformation มาสนับสนุนการดำเนินงาน เพิ่มขีดความสามารถใหม่ให้องค์กร ที่มหาวิทยาลัยมุ่งมั่นพัฒนาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่รากฐาน เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงาน การศึกษาให้เท่าทันโลกอยู่เสมอ

ซึ่งปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีแนวทางพัฒนาระบบดิจิทัลในการดำเนินการใน 5 ด้านก่อให้เกิดการสนับสนุนทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการจัดการฐานข้อมูลสารสนเทศ ช่วยเสริมความพร้อมทั้งเรื่องเชิงนโยบายที่เกี่ยวกับด้านดิจิทัล อาทิ การใช้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ หรือการใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์แทนเอกสารที่เป็นกระดาษ การจ่ายค่าเทอม หรือเงินเดือนผ่านทางออนไลน์ ฯลฯ โดยสิ่งสำคัญคือการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เหมาะสมต่อการดำเนินงาน โดยที่ยังอยู่ภายใต้กฎอยู่ในเกณฑ์ของกฎหมาย

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้พัฒนาขีดความสามารถของทุกส่วนงานในด้านการเรียนการสอนให้สมารถจัดการเรียนรู้ผ่านระบบดิจิทัลในรูปแบบออนไลน์ และการบูรณาการระหว่างออนไลน์และออนไซต์ โดยจัดให้มีการทดลองใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ส่งเสริมให้เกิดความเหมาะสมในการใช้งาน เพื่อเกิดการเรียนรู้ที่ดีของผู้เรียน ช่วยกระตุ้น ส่งเสริมการจัดการองค์ความรู้ พัฒนาการเรียนการสอน ให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์การเรียนการสอนที่ดีโดยได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนพันธกิจหลัก