จากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 30,000 บาท 15 ปีผ่านไป กลุ่มศิลปาชีพทุ่งทะเล จ.กระบี่ มีรายได้เสริมกว่า 4 ล้านบาท

“กลุ่มศิลปาชีพทุ่งทะเล การทอผ้ากี่กระทบ มีสมาชิก 25 คน ปัจจุบันมีกลุ่มรวมใจพัฒนาทุ่งทะเลอีก 12 คน ที่เป็นกลุ่มใหม่เกิดจากการต่อยอดมาจากกลุ่มศิลปาชีพทุ่งทะเลเดิม ที่นี่จะทอผ้าลายดอกเตยปาหนัน ลายผ้าขาวม้า เมื่อทอเสร็จจะส่งไปที่ศูนย์ศิลปาชีพที่สวนจิตรลดา โดยสมาชิกจะได้ค่าแรงเมตรละ 40 บาท ส่วนเส้นไหม หรือเส้นด้ายต่างๆ จะส่งมาจากศูนย์ศิลปาชีพฯ โดยตรง สมาชิกส่วนใหญ่จะใช้เวลาว่างหลังจากกรีดยาง ทำนา หรือทำสวนมาทอ เริ่มทำกันมาตั้งแต่ปี 2551  ถึง 2565 กลุ่มได้ส่งผ้าไปยังศูนย์ศิลปาชีพฯ แล้ว 1 แสนกว่าเมตร คิดเป็นเงินประมาณ 4 ล้านกว่าบาท” นางสุอัตรา ก๊กใหญ่ ประธานกลุ่มศิลปาชีพทุ่งทะเล ตำบลเกาะกลาง อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ กล่าว พร้อมบอกว่า รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงมาก ที่ทรงสร้างโครงการศิลปาชีพทุ่งทะเล การทอผ้ากี่กระทบขึ้น เพื่อให้ราษฎรได้มีงานทำ มีรายได้เสริม ทำให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ซึ่งตลอดมากลุ่มได้อบรมคนรุ่นใหม่อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้โครงการฯ มีผลงานผ้าทออย่างต่อเนื่องเป็นการสืบสานและต่อยอดให้คงอยู่ต่อไป

โครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าทุ่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเกาะกลาง อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เป็นโครงการฯ ที่เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับพื้นที่บริเวณป่าทุ่งทะเล เนื้อที่ประมาณ 4,200 ไร่ ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามที่จังหวัดกระบี่ ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย และมีพระราชเสาวนีย์ สรุปความว่า “...ให้จัดตั้งโครงการศิลปาชีพทุ่งทะเล เพื่อพัฒนาทักษะ และส่งเสริมอาชีพด้านการทอผ้า (กี่กระทบ) ของราษฎรในพื้นที่โครงการฯ ป่าทุ่งทะเล อันเป็นการยกระดับรายได้ของประชาชน ให้พออยู่พอกิน สามารถพึ่งตนเองได้ โดยเน้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา โดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้สนองพระราชดำริด้วยการสนับสนุนงบประมาณแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2542 - ปัจจุบัน โดยในปีงบประมาณ 2565  ได้สนับสนุนงบประมาณแก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมประมง เพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ อาทิ ฝึกอบรมอาสาสมัครป้องกันไฟป่า การเพาะชำกล้าไม้ ป่ากินได้ และไม้เศรษฐกิจ ฝึกอบรมการทอผ้าด้วยกี่กระทบ และส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง ทำให้สามารถสร้างงานสร้างอาชีพ และยกระดับรายได้ของราษฎรโดยรอบพื้นที่โครงการฯ ให้พออยู่ พอกิน สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยเน้นให้ราษฎรเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา และช่วยฟื้นฟูสภาพป่าทุ่งทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์ และมีความสมดุลทางระบบนิเวศ

ด้าน นางกิตติมา ถิ่นเกาะยาว ที่ปรึกษากลุ่มอาชีพจักสานผลิตภัณฑ์จากใบเตยปาหนัน บ้านร่าหมาด เปิดเผยว่า เตยปาหนัน เป็นพืชท้องถิ่นที่พบเห็นอยู่ทั่วไปในพื้นที่ เมื่อก่อนทุกๆ บ้านจะนำเส้นใยจากเตยปาหนันมาสานเป็นเสื่อปูนอน ทำกะเชอใส่ข้าว และเครื่องใช้อื่นๆ ต่อมาในปี 2536 มีหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนส่งเสริมให้นำใบเตยปาหนัน มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ เช่น กระเป๋าใส่เอกสาร กระเป๋าใส่เงินเหรียญ หมวกแฟชั่นตามยุคสมัย

“ในปี 2543 สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ 30,000 บาท เพื่อสร้างโรงเรือนให้สมาชิกใช้ทำงาน และเป็นพื้นที่วางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ปัจจุบันเรามีตลาดเพิ่ม มีลูกค้าสั่งทางออนไลน์ โดยจะผลิตกันตามออเดอร์ของผู้สั่งซื้อ ทำให้ขายได้หมด ยอดขายโดยรวมของกลุ่มจะประมาณเดือนละ 10,000 กว่าบาท ทำให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มจากการทำนา ทำสวน และเลี้ยงสัตว์” นางกิตติมา ถิ่นเกาะยาว กล่าว

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมด้วยพลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ นายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ ได้เดินทางลงพื้นที่จังหวัดกระบี่ เพื่อติดตามผลสัมฤทธิ์ และการขยายผลต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อสร้างประโยชน์สุขแก่ราษฎร สนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยคณะเดินทางไปยังโครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าทุ่งทะเลฯ โอกาสนี้คณะได้เยี่ยมชมกิจกรรมในโครงการประกอบด้วยการสาธิตการทอผ้า (กี่กระทบ) การจักสานเตยปาหนัน รวมทั้งผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ น้ำมันหอมระเหยจากเสม็ดขาว น้ำผึ้งจากเกสรเสม็ดขาว พร้อมกันนี้ องคมนตรี ได้มอบพันธุ์ปูและปลา ให้ราษฎรในพื้นที่เพื่อนำไปขยายพันธุ์ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในการขยายผลนั้น เนื่องจากราษฎรในพื้นที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดตั้งกลุ่มอาชีพ และขาดช่องทางการตลาดแบบต่อเนื่องในการจำหน่ายสินค้า จังหวัดกระบี่จึงได้วางแผน จัดหาบุคลากรที่มีความรู้มาฝึกอบรมให้ความรู้และวิธีการบริหารจัดการกลุ่มอาชีพ ตลอดจนพัฒนาฝีมือในการออกแบบผลิตภัณฑ์ ทั้งงานจักสาน และงานทอผ้า ให้มีรูปแบบใหม่ๆ ตรงตามยุคสมัยและความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เข้ามาสืบสานในงานฝีมือเหล่านี้ เพื่ออนุรักษ์ไม่ให้สูญหายไป รวมทั้งส่งเสริมช่องทางการตลาดด้วยการจัดอบรมการขายสินค้าออนไลน์ การนำแอปพลิเคชันมาช่วยในการส่งเสริมการขาย และการสร้างเพจสินค้าเป็นของกลุ่มฯ เพื่อเป็นช่องทางการจำหน่ายอีกด้วย