สังคมเกษตรกรรมของไทยตั้งแต่บรรพกาลสืบมา ทุกครัวเรือนจะมีการทอผ้าเพื่อใช้สอยภายในครอบครัว ถ่ายทอดและสั่งสมกรรมวิธีการทอให้แก่สมาชิกที่เป็นเพศหญิง เพราะการทอผ้าเป็นงานศิลปะที่ต้องใช้ทั้งความขยัน ความอดทน ความพยายาม และความประณีต ละเอียดอ่อน การทอผ้า จึงเป็นสิ่งที่พบเห็นได้เกือบทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน

ทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ศึกษาวิจัย เรื่อง การพัฒนากี่ทอผ้ายกดอกและจกพื้นบ้านด้วยระบบแจ็คการ์ด 400 เข็ม กรณีศึกษา กลุ่มทอผ้าไหมบ้านหนองตราดน้อย ตำบลชุมเห็ด อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการทอผ้าแบบยกดอกและจกพื้นบ้านทั้งยังเกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ตัดสินใจเพื่อวิเคราะห์ความรู้สึก โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ประจำปีงบประมาณ 2563

ผศ.วชิรศักดิ์ เขียนวงศ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เล่าว่า ผ้าทอมือมีความโดดเด่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เป็นงานฝีมือที่ทำด้วยมือแทบทุกขั้นตอนตั้งแต่กระบวนปั่นเส้นด้ายด้วยมือ ทอด้วยกี่หรือหูก เนื้อผ้าค่อนข้างหนานุ่ม เส้นด้ายไม่เรียบเสมอกันเป็นเสน่ห์ของงานทอมือ ทั้งแบบทอลายเรียบสีสันน้อยและทอลวดลายประณีตหลากสีสันสวยงาม เทคนิคการทอหลายแบบขึ้นอยู่กับฝีมือและวิธีการทอ โดยการทอด้วยมือทำให้ความแน่นและลวดลายอาจไม่สม่ำเสมอกัน

เมื่อได้ผ้าเป็นผืนแล้วนำมาตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สวยเด่นมีเสน่ห์และคุณค่ามาก ผ้าทอมือลายยากสำหรับเพื่อใช้ในโอกาสพิเศษอาจใช้เวลาทอนานหลายเดือน ราคาค่อนข้างสูงตามความละเอียดอ่อนและความยากของลวดลาย เมื่อเปรียบเทียบผ้าทอด้วยอุตสาหกรรม เป็นผ้าที่ใช้ด้ายโรงงานทอด้วยเครื่อง เนื้อผ้าจะเรียบแน่น ส่วนลายของผ้าทอแทบมองไม่ออกว่าด้านไหนเป็นด้านนอกด้านในต่างจากลายบนผืนผ้าทอมือที่บางเทคนิคจะเห็นว่าด้านหน้าและด้านหลังต่างกัน ผ้าทอด้วยเครื่องจึงเป็นผ้าทอสำเร็จรูปที่นำมาตัดเย็บทันที

ด้วยคุณค่าของผ้าทอจากการทอมือที่เป็นผ้าหัตถกรรม ที่มีความโดดเด่นมีเสน่ห์ความเป็นหัตถกรรมจากความไม่สม่ำเสมอของเนื้อผ้าที่ผ่านการทอผ้า ด้วย 3 กระบวนการหลัก คือ การเปิดตะกอ การกระตุกที่ทำให้เส้นด้านตึงหย่อนไม่เท่ากันและการกระทบ

ซึ่งการวิจัยในครั้งนี้คณะผู้วิจัยมุ่งพัฒนากลไกการเปิดตะกอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทอยกดอกพื้นบ้าน ลดกระบวนการจก ยกดอกลายผ้าแบบดั้งเดิมที่ต้องทักษะ ความอดทน สมาธิสูง และเวลาใช้ระยะเวลาในการทอต่อผืนนานกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับผ้าทอในอุตสาหกรรม รวมทั้งในกลุ่มทอผ้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานผู้สูงอายุ ซึ่งมีปัญหาทางด้านสายตาทำให้เกิดการทอผิดลายได้

ในขณะที่ระบบอุตสาหกรรมเข้ามาแทนที่การทอผ้าแบบดั้งเดิม ผลิตภัณฑ์หาซื้อได้ง่ายราคาถูก ทำให้ส่งผลกระทบกับการผลิตแบบดั้งเดิมซบเซา คนรุ่นใหม่ไม่นิยมเข้าสืบทอด ดังนั้นการนำงานวิจัยเข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นโจทย์ที่สำคัญ ด้วยการพัฒนาประสิทธิภาพกี่ทอพื้นบ้านด้วยระบบการทอแบบแจ็คการ์ด สามารถทอลวดลายที่ซับซ้อนได้ง่ายขึ้น สะดวกสบายต่อการใช้งานมากขึ้น ช่วยให้ผู้ทอฝึกหัดใหม่สามารถทอได้ง่ายขึ้น นำลวดลายเดิมทอซ้ำๆ ได้หลายครั้ง มีคุณภาพ มีมาตรฐานและสร้างลวดลายขึ้นเองได้โดยง่ายในท้องถิ่น

ผศ.วชิรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับกี่ทอผ้ายกดอกและจกพื้นบ้านด้วยระบบแจ๊คการ์ด 400  เข็ม ใช้ระบบกลไกในการควบคุมการยกของเส้นยืนอิสระตามสัญญาณที่ส่งผ่านการ์ดเจาะแต่ละแผ่น ซึ่งมีผลต่อการเคลื่อนที่ของเข็ม ตะขอ เส้นยืน ที่ทำงานสัมพันธ์กันตามจังหวะของการเหยียบในแต่ละครั้ง ที่ส่งกำลังไปขับเคลื่อนระบบกลไกผ่านเท้าเหยียบและผ่านจังหวะการกระทบฟืม โดยการทดสอบทอผ้ายกดอกและจกพื้นบ้านด้วยระบบแจ็คการ์ด 400 เข็ม ใช้เส้นด้ายโทเร 120 เป็นเส้นยืนและเส้นด้ายพุ่งใช้เส้นด้ายคอสตอน 40 เป็นเส้นพุ่ง จากนั้นทำการทอทดสอบด้วยกี่ทอยกและจกพื้นบ้านระบบแจ๊คการ์ด 400 เข็ม การทดสอบในเวลา 8 ชั่วโมง พบว่ากี่ทอผ้าสามารถทอผ้าได้ระยะผ้าเฉลี่ย 45.72 เซนติเมตรต่อชั่วโมง

เมื่อเปรียบเทียบกับการทอด้วยยกดอกและจกพื้นบ้าน ซึ่งจะทอได้ระยะผ้าเฉลี่ย 10-15 เซนติเมตรต่อชั่วโมง โดยขึ้นอยู่กับความชำนาญของผู้ที่ทำการทอผ้าการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องเจาะรูแผ่นการ์ด วัดอัตราเฉลี่ยการเจาะโดยเฉลี่ย 25 แผ่นต่อชั่วโมงและ 200 แผ่นต่อวัน และการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องร้อยแผ่นการ์ด วัดอัตราเฉลี่ย 3.5 วินาทีต่อแผ่น

นอกจากนี้ การทอผ้ายกดอกและจกพื้นบ้านด้วยระบบแจ็คการ์ด ยังช่วยลดต้นทุนค่าแรง เพิ่มประสิทธิการทอผ้ายกดอก สร้างโอกาสในการเพิ่มมูลค่าและยกระดับผลิตภัณฑ์ทอผ้ายกดอกในชุมชนอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ชาวบ้านในชุมชนมีความพึงพอใจในประสิทธิภาพการทอผ้ายกดอกและจกพื้นบ้านด้วยระบบแจ็คการ์ด เนื่องจากมีความโดดเด่น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอีกด้วย ซึ่งทางทีมวิจัยจะมีการทำโครงการจัดการความรู้เพิ่มเติม เพื่อขยายผลในชุมชนพื้นที่ใกล้เคียงต่อไปในอนาคต