29 กรกฎาคม วันภาษาไทยแห่งชาติ ด้านกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็น เด็ก เยาวชน และประชาชน ที่มีต่อวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช 2565 จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 6,260 คน สรุปได้ดังนี้

เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่คิดว่าระดับการใช้ภาษาไทยบนสื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบัน ที่เหมาะสมมากที่สุด อันดับ 1 ระดับกึ่งทางการ อันดับ 2 ระดับไม่เป็นทางการ อันดับ 3 ระดับกันเองหรือระดับปาก

แหล่งเรียนรู้หรือสถานที่ช่วยส่งเสริมและอนุรักษ์การใช้ภาษาไทยในยุคปัจจุบัน อันดับ 1 โรงเรียน มหาวิทยาลัย อันดับ 2 หอสมุดแห่งชาติ ห้องสมุด อันดับ 3 ร้านอินเตอร์เน็ต หรือ สื่อออนไลน์

เด็ก เยาวชน และประชาชน ส่วนใหญ่คิดว่ามีส่วนช่วยสืบสาน อนุรักษ์ภาษาไทย ให้อยู่คู่คนไทยตลอดไป อันดับ 1 การใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง โดยวิธีการพูด อ่าน เขียน อันดับ 2 พูดออกเสียงให้ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นภาษาถิ่น ภาษาพื้นเมือง และภาษาไทยกลาง อันดับ 3 ตั้งใจเรียนรู้และถ่ายทอดภาษาไทยอย่างถ่องแท้

กิจกรรมที่เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่คิดว่ามีส่วนช่วยส่งเสริมการใช้ภาษาไทย อันดับ 1 การแสดงทางศิลปะและวัฒนธรรมไทย อันดับ 2 การเผยแพร่สื่อวีดิทัศน์ส่งเสริมการใช้ภาษาไทย อันดับ 3 การจัดนิทรรศการในวันอนุรักษ์มรดกไทย

ประเภทของเพลงที่เห็นว่ามีส่วนสำคัญในการส่งเสริมภาษาไทย อันดับ 1 เพลงลูกทุ่ง อันดับ 2 เพลงพื้นบ้าน อันดับ 3 เพลงลูกกรุง

บุคคลที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้การสื่อสารและเข้าใจความหมายของภาษาผิดเพี้ยนไปจากเดิม อันดับ 1 วัยรุ่น อันดับ 2 ยูทูบเบอร์ อันดับ 3 ดารา/นักแสดง

ด้าน นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า คนไทยส่วนใหญ่อยากให้วธ. มีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะด้านภาษาไทยให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชน เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจ เห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของการใช้ภาษาไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวธ.ได้จัดกิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติทุกปี เสวนาทางวิชาการต่างๆ การประกวดงานเขียนทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง การอ่านทำนองเสนาะ อาทิ การคัดเลือกเยาวชนผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นด้านการพูด การอ่าน การเขียน การประกวดคำขวัญวันภาษาไทยแห่งชาติ และการประกวดสื่อสร้างสรรค์ที่เกี่ยวกับกับภาษาไทย ฯลฯ รวมถึงให้มีการจัดทำคลิปวิดีโอ สารคดี การ์ตูน เผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อรณรงค์การใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องด้วย