องคมนตรี เป็นประธานเปิดโครงการร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ ประจำปี 2565 “ปลูกป่า รักษ์น้ำ สืบสาน พระราชปณิธาน” และติดตามผลสัมฤทธิ์โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์

วันที่ 29 กรกฎาคม 2565 พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ  เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำทุ่งขามอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลไร่ใหม่พัฒนา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นประธานเปิดโครงการร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ ประจำปี 2565 “ปลูกป่า รักษ์น้ำ สืบสาน พระราชปณิธาน” เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (28 กรกฎาคม 2565) และเพื่อน้อมรำลึกและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์  ที่ทรงให้ความสำคัญในการดูแลรักษาป่าไม้ และแหล่งน้ำ ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน จึงจัดทำโครงการร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ ประจำปี 2565 “ปลูกป่า รักษ์น้ำ สืบสาน พระราชปณิธาน" โดยมีกิจกรรม อาทิ การปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติและปรับภูมิทัศน์เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนและการท่องเที่ยว การปล่อยพันธุ์ปลาน้ำจืดและพันธุ์กุ้ง การซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำเป็นต้น

โครงการอ่างเก็บน้ำทุ่งขามอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีลักษณะเป็นเขื่อนดิน ขนาดความจุ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ (อ่างพวง) หัวหิน-ชะอำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำห้วยไทรงาม, อ่างเก็บน้ำไม้ตาย อ่างเก็บน้ำทุ่งขาม, อ่างเก็บน้ำห้วยตะแปด, อ่างเก็บน้ำห้วยทราย, อ่างเก็บน้ำห้วยทราย (หุบกะพง), และบ่อพักน้ำเขากะปุกเป็นการบริหารจัดการน้ำโดยใช้ระบบเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยอ่างเก็บน้ำทุ่งขามฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2524 มีการบริการจัดการน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่มีศักยภาพของน้ำต้นทุนที่สูงกว่าโดยใช้แรงโน้มถ่วงสภาพธรรมชาติ ห้วย คลอง ระบายน้ำข้ามลุ่มน้ำลงอ่างเก็บน้ำทุ่งขามฯ ปัจจุบันสามารถส่งน้ำสนับสนุนด้านการเกษตรให้แก่ประชาชนหมู่ที่ 1 2 3 4 7 และ 5 ในพื้นที่ตำบลไร่ใหม่พัฒนา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ประมาณ 8,000 ไร่ และเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับใช้ทำประปาหมู่บ้านให้แก่หมู่ที่ 1 2 3 และ 8 ของตำบลไร่ใหม่พัฒนา อีกด้วย

ช่วงบ่ายองคมนตรี และคณะฯ เดินทางไปยังจุดชมธรรมชาติอ่างเก็บน้ำห้วยไม้ตายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลไร่ใหม่พัฒนา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นเขื่อนดิน  มีขนาดความจุ 3.700 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำสนับสนุนโครงการปลูกป่าชัยพัฒนา-แม่ฟ้าหลวง ตามพระราชดำริ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดเพชรบุรี โดยมีศูนย์ปฏิบัติการจัดการที่ดินชัยพัฒนา-แม่ฟ้าหลวง มีกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานอนุรักษ์ พัฒนา ฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ทั้งด้านป่าไม้ แหล่งน้ำ ดิน ให้เกิดความสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่การเกษตร ประมาณ 4,400 ไร่ ซึ่งนอกจากสร้างประโยชน์ในด้านการอุปโภคบริโภคและการประกอบอาชีพแล้ว ปัจจุบันได้พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมสวยงาม และระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้มีพืชและสัตว์หลากหลายชนิดอยู่อาศัยโดยรอบบริเวณ ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาพักผ่อน ศึกษาดูงาน ทำกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การปลูกป่า ปั่นจักรยาน และเข้าค่ายกางเต็นท์พักแรม เป็นต้น

จากนั้นองคมนตรีและคณะฯ เดินทางไปยังแปลงเกษตรของนางสาวรุ่งทิพย์ ดีเด่น บ้านเลขที่ 84 หมู่ที่ 8 ตำบลไร่ใหม่พัฒนา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เกษตรกรผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการอ่างเก็บน้ำทุ่งขามฯ เดิมนางรุ่งทิพย์ ทำงานโรงงาน เมื่อมีอายุมากขึ้นจึงได้กลับมาทำการเกษตรในพื้นที่ของตนเอง โดยการทำเกษตรแปลงใหญ่ปลูกกล้วยหอมทองส่งโรงงาน และเห็นว่าการปลูกกล้วยหอมทองส่งโรงงานไม่ยั่งยืน ประกอบกับเจ้าหน้าที่งานศึกษาทดลองและขยายผลของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี ได้เชิญชวนให้เข้าเป็นสมาชิกของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ เมื่อปี 2557 เริ่มเข้าร่วมอบรมหลักสูตรต่าง ๆ เช่น การนำวัสดุเหลือใช้มาทำปุ๋ยหมัก/น้ำหมักชีวภาพ การปลูกไม้ผล เป็นต้น  ต่อมาจึงได้ปรับเปลี่ยนมาปลูกไม้ผลที่มีอายุยืน เริ่มจากการปลูกมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์บ้านแพ้ว ปลูกผสมผสานกับพืชและไม้ผลอื่น ๆ เช่น โกโก้ กล้วย มะม่วง ฝรั่ง ฯลฯ เพื่อให้เกิดการเกื้อกูลกันระหว่างราคากับผลผลิต และป้องกันปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ เดิมนางรุ่งทิพย์ฯ ใช้น้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคจากสระเก็บน้ำของหมู่บ้านซึ่งรับน้ำจากน้ำฝนและน้ำซึมใต้ดินโดยอยู่ห่างจากบ้านระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ต่อมาเมื่อมีโครงการอ่างเก็บน้ำทุ่งขามฯ จึงได้ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำดังกล่าวโดยรับน้ำผ่านคลองส่งน้ำลงสู่สระพักน้ำบริเวณบ้าน จากนั้นจึงสูบน้ำเข้าสู่ระบบน้ำหยดและสปริงเกอร์ในแปลงเกษตรจึงมีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภคและสามารถทำการเกษตรแบบผสมผสานได้อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีรายได้ต่อเดือนประมาณ 25,000 บาท

ต่อจากนั้น องคมนตรีและคณะฯ เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่าอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2506 เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามพระราชดำริแห่งแรกในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อช่วยเหลือราษฎรในหมู่บ้านเขาเต่า ซึ่งอยู่กันอย่างหนาแน่น และขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค ประกอบกับช่วงน้ำทะเลขึ้นจะเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรบริเวณทุ่งตะกาด ทำให้ผลผลิตเสียหาย จึงมีพระราชดำริให้กรมชลประทาน พิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเขาเต่าขึ้น โดยพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 60,000 บาท พร้อมกันนี้ราษฎรได้ร่วมกันน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายที่ดิน จำนวน 300 ไร่ เพื่อใช้เป็นพื้นที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ต่อมาชุมชนมีการขยายตัว สถานประกอบการต่าง ๆ เกิดขึ้น รวมทั้งมีการเลี้ยงปลาในกระชังบริเวณอ่างเก็บน้ำฯ จึงเป็นสาเหตุทำให้น้ำในอ่างเน่าเสีย และในปี 2557 คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ได้สนับสนุนงบประมาณให้กรมชลประทานจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักและระบายน้ำอ่างเก็บน้ำเขาเต่าอันเนืองมาจากพระราชดำริ และพัฒนามาอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ราษฎรชุมชนเขาเต่า จำนวน 800 ครัวเรือน มีน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค มีแหล่งน้ำสำรองในการผลิตน้ำประปาหมู่บ้านได้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่ประชาชนมาพักผ่อนและทำกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ส่งผลให้คนในชุมชนมีอาชีพ มีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

กองประชาสัมพันธ์ สำนักงาน กปร.