สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม  วัชรประดิษฐ์

พระกรุวัดท่าเรือที่ค้นพบ ส่วนใหญ่เป็นพระเนื้อดิน มีทั้งเนื้อหยาบและละเอียด มีแร่กรวดทรายผสมอยู่ค่อนข้างมาก ที่เป็นพระเนื้อชินมีเป็นส่วนน้อยมาก ลักษณะพุทธศิลปะเป็นแบบอยุธยาตอนต้น ที่ได้รับการยอมรับและจัดให้เป็นพระอันดับหนึ่งในพระชุดไตรภาคี คือ "พิมพ์ปรกโพธิ์ พิมพ์ใหญ่" หรือ "พระซุ้มชินราช พิมพ์ใหญ่"    

เป็นหนึ่งในพระชุดไตรภาคี พระเครื่องยอดนิยมอันดับหนึ่งของเมืองนครศรี ธรรมราช สมัยเมื่อ 20-30 ปีมาแล้ว ที่กล่าวขวัญกันในวงการนักเลงพระยุคนั้นว่า "ท่าเรือ นางตรา นาสนธิ์" คือ พระพิมพ์ปรกโพธิ์ พิมพ์ใหญ่ กรุวัดท่าเรือ พระพิมพ์นาค ปรกใหญ่ กรุวัดนางตรา และพระพิมพ์ใบพุทราหรือพิมพ์ยอดขุนพล กรุวัดนาสนธิ์ ณ ปัจจุบันยังคงเป็นที่นิยมสูงและเสาะแสวงหากันอยู่ แต่ค่อนข้างหาดูได้ยากกว่าแต่ก่อนมาก

พระซุ้มชินราชปรกโพธิ์ กรุวัดท่าเรือ พิมพ์เล็ก

วัดท่าเรือ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนนาฏศิลป์ เมืองนครศรีธรรมราช แต่จากหลักฐานในหนังสือใบลานผูก เขียนแบบสมุดข่อย ซึ่งสันนิษฐานว่าเขียนขึ้นโดยบัณฑิตในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุง ศรี อยุธยา ระบุว่าวัดท่าเรือ หรือวัดท่าโพธิ์ นี้ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมาโศกราช โดยพระองค์ทรงสถาปนาวัดท่าเรือร่วมกับพระภิกษุชาวลังกา เพื่อประดิษ ฐานวิหารพระเจดีย์ รวมทั้งสร้างพระพิมพ์ ขนาดต่างๆ ขึ้น เพื่อฉลองสมโภชพระมหาเจดีย์ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.1773

นอกจากนี้ ยังใช้เป็นเครื่องคุ้มครองป้องกันอันตรายแก่ผู้ที่อาราธนาติดตัว โดยเฉพาะผู้มีหน้าที่ป้องกันชาติบ้านเมือง พระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมาโศกราชทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกลที่จะให้ชนรุ่นหลัง ผู้ทำหน้าที่รักษาบ้านเมือง ได้นำติดตัวออกไปป้องกันภัยเมื่อยามจำเป็น จึงทรงผูกลายแทงไว้คู่กับวัดท่าเรือ ...

พระซุ้มชินราชปรกโพธิ์ กรุวัดท่าเรือ พิมพ์ใหญ่

ต่อมาทวดศักดิ์สิทธิ์ วัดศาลามีชัย ได้แก้ลายแทงขุมทรัพย์วัดท่าเรือให้เจ้าพระยานคร (น้อย) และให้ทหารขุดเอาพระกรุท่าเรือไปป้องกันตัวในสงครามปราบกบฏเมือง ไทรบุรี-กลันตันเป็นครั้งแรก ในปลายสมัยรัชกาลที่ 2 พระกรุวัดท่าเรือได้แสดงปาฏิหาริย์สามารถประกาศชัยชนะสยบศัตรูได้อย่างราบ คาบ เจ้าพระยานคร (น้อย) ได้รับความดีความชอบเลื่อนยศขึ้นเป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช (น้อย) องค์สุดท้ายของประวัติศาสตร์เมืองนครศรีธรรมราช

หลังจากนั้นได้อาราธนาพระกรุท่าเรือติดตัวในการทำสงครามอีกหลายต่อหลายครั้ง อาทิ สงครามมหาเอเชียบูรพา ปี พ.ศ.2484 เหล่าศัตรูเกรงขามในความคงกระพันชาตรีของทหารเมืองนครศรีฯ เป็นอย่างมาก แต่ในสมัยก่อนนั้น เมื่อเสร็จสิ้นสงครามแต่ละครั้งเหล่าทหารก็จะนำพระกลับไปคืนเก็บไว้ที่วัด ดั้งเดิม โดยใส่ไหใส่ตุ่มฝังไว้บ้าง โยนไว้แถวเจดีย์ ใต้ต้นไม้ หรือบริเวณลานวัดบ้าง ด้วยยังเชื่อถือกันเคร่งครัดว่าพระต้องอยู่วัดเท่านั้น

พระซุ้มชินราชปรกโพธิ์ กรุวัดท่าเรือ พิมพ์ใหญ่

กาลเวลาผ่านพ้นไป วัดท่าเรือได้แปรสภาพเป็นวัดที่รกร้างมาเป็นเวลายาวนาน ศาสนสถานและศาสนวัตถุต่างๆ ปรักหักพังเสื่อมโทรม องค์พระที่ทับถมอยู่ตามบริเวณต่างๆ ภายในวัด จนเมื่อกรมศิลปากรทำการปรับที่ดิน เพื่อสร้างวิทยาลัยนาฏศิลป์ประมาณปี พ.ศ.2519 ได้ขุดพบซากพระอุโบสถและอื่นๆ ตามที่ระบุในใบลานทุกอย่าง รวมทั้ง พระกรุวัดท่าเรือ เมื่อพุทธคุณเป็นที่ปรากฏก็ยิ่งเป็นที่สนใจแสวงหากันเพิ่มยิ่งขึ้น สนนราคาก็ขึ้นสูงตาม

พระกรุวัดท่าเรือที่ค้นพบส่วนใหญ่เป็นพระเนื้อดิน มีทั้งเนื้อหยาบและละเอียด มีแร่กรวดทรายผสมอยู่ค่อนข้างมาก ที่เป็นพระเนื้อชินมีเป็นส่วนน้อยมาก ลักษณะพุทธศิลปะเป็นแบบอยุธยาตอนต้น มีด้วยกันหลายพิมพ์ทรง อาทิ พิมพ์ปรกโพธิ์ พิมพ์ใหญ่, พิมพ์ปรกโพธิ์ พิมพ์เล็ก, พิมพ์วงเขน, พิมพ์ตรีกาย และพระปิดตา เป็นต้น แต่ที่นับว่าเป็น "พิมพ์นิยม" ได้รับการยอมรับและจัดให้เป็นพระอันดับหนึ่งในพระชุดไตรภาคี คือ "พิมพ์ปรกโพธิ์ พิมพ์ใหญ่" หรือ "พระซุ้มชินราช พิมพ์ใหญ่" ลักษณะองค์พระตัดกรอบแบบสี่เหลี่ยม พุทธลักษณะงดงามสง่า องค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางสมาธิ บนฐานบัวสองชั้น อยู่ภายในซุ้มเรือนแก้วแบบซุ้มชินราช มีปรกโพธิ์ปกคลุมเหนือซุ้ม บางครั้งจึงเรียกว่า "พระซุ้มชินราช"

พระซุ้มชินราชปรกโพธิ์ กรุวัดท่าเรือ พิมพ์ใหญ่

ไม่ว่าจะเป็นพิมพ์นิยม หรือพิมพ์อื่นใด ทรงใดก็ตาม ถ้าเป็น “พระกรุวัดท่าเรือ” แล้ว เป็นที่เชื่อถือและปรากฏในความเยี่ยมยอดของพุทธคุณ ทั้งด้านคงกระพันชาตรี แคล้วคลาดคมอาวุธ ตบะเดชะอิทธิฤทธิ์เหนือมวลศัตรู ป้องกันเขี้ยวงา พิษร้ายต่างๆ รวมถึงเมตตามหานิยม และล้วนประสบความรุ่งโรจน์ ความสำเร็จสูงสุดในชีวิต ดังวลีที่ว่า …

“คำว่า “ยากจน” และ “ตายโหง” จะไม่มีปรากฏในปทานุกรมของบุคคลผู้ได้บูชาห้อยคอ “พระกรุท่า เรือ” พระคู่บ้านคู่เมืองแห่งอาณาจักร “ตามพรลิงค์” เมืองนครศรีธรรมราช” ครับผม