รัฐบาลได้ตระหนักถึงพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถพิตร เกี่ยวกับโครงการพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อความกินดีอยู่ดี หรือพออยู่พอกินให้แก่ประชาชนในชนบทที่อยู่ห่างไกลและยากจน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีส่วนสำคัญที่เข้าไปเสริมแผนงานต่างๆ ของรัฐบาลก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงเป็นส่วนรวม

ในการปฏิบัตินั้น หากจะปล่อยให้การดำเนินงานสนองพระราชดำริของหน่วยงานต่างๆ เป็นไปอย่างในอดีตที่ผ่านมา ที่แต่ละหน่วยงานจะดำเนินการอย่างเอกเทศต่างฝ่ายต่างทำไม่มีการประสานงานกับหน่วยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นเพื่อความสอดคล้องสนับสนุนซึ่งกันและกันอันจะบรรลุผลตามแนวพระราชดำริที่ได้พระราชทานไว้ รัฐบาลจึงได้จัดระบบสนองพระราชดำริขึ้นในปี พ.ศ. 2524 โดยการริเริ่มของ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นด้วยการออก “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พ.ศ. 2524” มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2524 โดยกำหนดให้มีองค์กรระดับชาติรับผิดชอบเรียกว่า “คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” หรือเรียกโดยย่อว่า “กปร.

นายลลิต ถนอมสิงห์ เลขาธิการ กปร.  เปิดเผยว่า ปัจจุบันโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีทั้งหมด 5,151 โครงการ ตั้งแต่รัชสมัยรัชกาลที่ 9 จนถึงรัชกาลที่ 10 พระองค์ทรงให้ความสำคัญในการพัฒนาแหล่งน้ำซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพของราษฎร ตลอดถึงพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 6 แห่ง ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อศึกษาทดลองจนประสบความสำเร็จแล้วขยายผลสู่การนำไปปฏิบัติใช้ของราษฎร โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจึงนับเป็นโอกาสของประชาชนที่จะเข้าไปเรียนรู้ นำสิ่งเหล่านั้นไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต และประกอบอาชีพ

อย่างเช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ปัจจุบันเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวและเรียนรู้วิถีพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยเป็นสถานที่ศึกษา ทดลอง และพัฒนาอาชีพด้านเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมทางการเกษตรอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้ชุมชนยืนได้ด้วยการพึ่งพาตัวเอง ทั้งยังช่วยฟื้นฟู และพัฒนาป่าไม้ด้วยระบบชลประทาน และระบบป่าเปียก นอกจากการศึกษาและทดลองด้านพันธุ์พืชแล้วยังมีการศึกษาและทดลองเกี่ยวกับสัตว์ที่เลี้ยงง่าย อาหารสัตว์ที่หาได้ในท้องถิ่น ใช้เทคโนโลยีแบบง่าย ทนทานต่อสภาพแวดล้อม นำมาเป็นอาหารในครัวเรือน และมีรายได้อย่างมั่นคงเมื่อนำไปขาย ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยเป็น 4 ดำภูพานแล้ว ประกอบด้วย ไก่ดำภูพาน สุกรภูพาน โคทาจิมะ (โคเนื้อ) และกระต่ายดำ ได้สร้างชื่อเสียงความสำเร็จด้านการพัฒนาพันธุ์สัตว์ และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างชัดเจน

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานแนวทาง และวางรากฐานไว้ว่าการพัฒนานั้นต้องเป็นการพัฒนาแบบพึ่งพาตนเองเพื่อให้ตนเองเกิดความเข้มแข็ง และผู้อื่นก็สามารถที่จะดำเนินการได้ด้วยการเพิ่มทักษะ องค์ความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนสร้างจิตสำนึกที่ดีมีคุณธรรมต่อตนเองและผู้อื่น เหล่านี้เป็นพื้นฐานความคิดที่ดีที่ถูกต้อง สามารถนำไปเป็นแนวทางพัฒนาและปรับใช้ในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติในทุกๆ ด้าน เป็นสัมฤทธิ์ผลได้” นายลลิต ถนอมสิงห์ เลขาธิการ กปร.  กล่าว

ทั้งนี้ในการขับเคลื่อนงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 รวมไปถึงพระบรมวงศานุวงศ์ ที่สำนักงาน กปร. ได้สนองงานร่วมกับส่วนงานที่เกี่ยวข้องตลอดมารวมระยะเวลา 41 ปี จากการประเมินผลสัมฤทธิ์ในช่วงปีงบประมาณ 2557 – 2564 ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยอิงข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์ การเก็บข้อมูลในพื้นที่โครงการ ตลอดจนการประชุมระดมความคิดเห็น (Focus Group) จากหน่วยงานที่ร่วมสนองงานฯ พบว่าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้ส่งผลให้ผู้เข้าร่วมโครงการ ส่วนใหญ่มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะด้านส่งเสริมอาชีพ และด้านบูรณาการ สามารถนำรายได้ที่เพิ่มขึ้นไปขยายผลลงทุนเพื่อต่อยอดสร้างความมั่นคงให้กับอาชีพได้อย่างเป็นรูปธรรม และเพิ่มมูลค่าจากการต่อยอดแปรรูปผลิตภัณฑ์ เช่น โครงการที่ส่งเสริมการปลูกกาแฟ จากการเป็นผู้เข้าร่วมโครงการขายเมล็ดกาแฟเพียงอย่างเดียวมาเป็นการขายกาแฟพร้อมดื่ม และบางส่วนได้พัฒนาพื้นที่ปลูกกาแฟให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และเกษตรเพื่อสิ่งแวดล้อม สามารถเพิ่มมูลค่าและช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งการพัฒนาต่อยอดดังกล่าวทำให้ราษฎรเกิดการรับรู้มองเห็นคุณค่าในโครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ ราษฎรในโครงการมีเงินออมมากขึ้นขณะที่ภาระหนี้ลดลง

“41 ปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะยุคของรัฐบาลไหน ต่างให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง เพราะเป้าหมายและวัตถุประสงค์หลักคือประโยชน์สุขของประชาชน สำหรับแนวทางการพัฒนาต่อจากนี้ สำนักงาน กปร. ในฐานะฝ่ายเลขาในการสนองงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะขับเคลื่อนแนวคิดที่เป็นประโยชน์สุขให้แก่ประชาชน เพื่อให้บรรลุผลตามพระราชประสงค์และตามนโยบายของรัฐบาลในยุคต่อๆ ไป” เลขาธิการ กปร. กล่าว